วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ความเป็นมาของปัญหา

ผมทราบมาว่าการต่อต้านสยามของรัฐปัตตานีในครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๓๗๔...ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น..

แต่เรื่องที่น่าคิดเกิดขึ้นตรงนี้.....

รัชการที่ ๕ ได้เริ่มจัดระเบียบการบริหารขึ้นใหม่ตามระบบเทศาภิบาล ยกเลิกระบบการปกครองแบบหัวเมือง ดังนั้นจากเจ้าเมืองที่ปกครองกันเองเก็บภาษีกันเองแล้วส่งส่วยให้สยาม ๓ ปีต่อครั้ง..กลายเป็นระบบผู้ว่าราชการจังหวัด (แต่สมัยนั้นเขาเรียกว่าข้าหลวงเทศาภิบาล) รับเงินเดือนจากทางการสยาม เจ้าเมืองปัตตานีไม่ค่อยแฮปปี้ รู้สึกว่าตนเองเสียอำนาจไปมาก ตอนนั้นปัญหาก็เกิดขึ้นมาพอสมควร รัชการที่ ๕ ก็ให้เจ้าพระยาดำรงราชานุภาพมากำกับดูแล

ผมก็สงสัยว่า......แล้วทำไมรัชการที่ ๕ ต้องเปลี่ยนระบบด้วยเล่า.. หรือว่าท่านอยากมีอำนาจ....พวกผมก็เดาเอานะว่ายุคนั้นอังกฤษ กับฝรั่งเศส เข้ามาล่าอาณานิคม..เราต้องทำให้เขาเห็นว่าสยามเราเป็นรัฐเดียว...คุณจะมาแบ่งไม่ได้...ซึ่งยุคนั้นมันก็มีเจ้าเมืองซึ่งเคยส่งส่วยให้บางคนเลือกที่จะอยู่กับอังกฤษหรือฝรั่งเศส

7 เดือนแห่งความพยายามยื้อชีวิตครูจูหลิง




วันนี้ไม่มีครูจูหลิง ที่กูจิงลือปะ...!?!

โดย คม ชัด ลึก วัน พุธ ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550 13:16 น.
7 เดือนแห่งความพยายามยื้อชีวิตจบลงด้วยชีวิต การเดินทางอันแสนยาวนานของผู้หญิงตัวเล็กๆ จากเชียงรายสู่ปลายทางแห่งฝันสิ้นสุดลงพร้อมกัน วันนี้ที่กูจิงลือปะไม่มีครูจุ้ย "จูหลิง ปงกันมูล" อีกต่อไป

เพื่อสานฝันให้เป็นจริง ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น จึงบากบั่นจากบ้านเกิดเมืองนอน จากจังหวัดเหนือสุดแดนสยาม มุ่งหน้าสู่ดินแดนที่แตกต่างทั้งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม

ปี 2546 ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ "จูหลิง ปงกันมูล" หรือที่พ่อแม่ญาติพี่น้อง ทั้งผองเพื่อนเรียกติดปากว่า "จุ้ย" จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์งานศิลปะมาพอสมควร ก่อนจะเก็บกระเป๋าเดินทางไกลจากเชียงรายไปนราธิวาส รับจ้างวาดภาพตามโบสถ์วัดต่างๆ นำเงินที่ได้ส่งกลับให้พ่อและแม่

2 ปีให้หลัง จุ้ย ก็มีคำนำหน้าชื่อให้ใครต่อใครในนราธิวาสเรียกขานว่า "ครูจุ้ย" หรือ "ครูจูหลิง" แทนที่จะเรียกว่า จุ้ย เฉยๆ เหมือนอย่างเคย เมื่อสอบเข้าบรรจุเป็นครูที่ ร.ร.กูจิงลือปะ หมู่ 4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

ด้วยความเป็นคนมีอุปนิสัยร่าเริง เป็นกันเอง เธอจึงเป็นที่รักใคร่ชอบพอของเด็กๆ เพื่อนครู และชาวบ้านกูจิงลือปะ แต่เหมือนฟ้าจะลิขิตชีวิตเธอมาเพียงแค่นี้ เมื่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ลุกลามนำภัยมาสู่ตัวเธออย่างไม่รู้ตัว

เที่ยงวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ครูจุ้ย พร้อมด้วยเพื่อนครู ร.ร.กูจิงลือปะ อีกหลายคน ขี่รถจักรยานยนต์ออกไปกินก๋วยเตี๋ยวที่หน้าโรงเรียน จู่ๆ ก็มีเสียงประกาศตามสายเป็นภาษามลายู เพื่อนครูมุสลิมฟังแล้วถึงกับตกใจ แปลได้ใจความว่า ให้ชาวบ้านรวมตัวกันจับครูไทยพุทธเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับอิสรภาพของ "อับดุลการิม มาแต" กับ "มูหะหมัดสะแปอิง มือรี" 2 ผู้ต้องหาทำร้าย 2 นาวิกโยธินถึงแก่ความตาย

เหตุการณ์ร้ายแรงเกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิดไปถึง เมื่อชาวบ้านกว่า 300 คน กรูเข้าจับตัว ครูจูหลิง กับ น.ส.ศิรินาถ ถาวรสุข สองครูไทยพุทธ ถูลู่ถูกังไปตามถนนตรงไปยังห้องเก็บของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกูจิงลือปะ ห่างจากโรงเรียนไป 400 เมตร ระหว่างทางทั้งสองถูกตบตีทำร้ายร่างกายต่างๆ นานา

ในห้องที่ปิดล็อกและมืดมิด ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งสวมหมวกไหมพรม ตรงเข้าใช้ไม้กระหน่ำตีสองครูอย่างทารุณ สติสัมปชัญญะครั้งสุดท้ายของครูจูหลิงจบสิ้นลงตรงจุดนี้ !!!

แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ นำร่างอันสะบักสะบอมของครูจูหลิงและครูศิรินาถ ออกจากจุดเกิดเหตุส่งโรงพยาบาลก็ต้องเสียเวลาอยู่นาน กว่าจะฝ่าอุปสรรคขวากหนามที่ชาวบ้านทำไว้ ทั้งโรยตะปูเรือใบ ตัดต้นไม้ปิดทางเข้า-ออก อาการของสองครูก็เข้าขั้นโคม่า กว่าจะไปถึง รพ.สงขลานครินทร์ ก็ปาเข้าไปตี 3 ของอีกวัน

ครูจูหลิง โชคร้ายกว่าเพื่อน เธอไม่ได้สติเลยนับตั้งแต่ถูกทำร้าย อันเนื่องมาจากศีรษะช้ำและร้าว 20 แห่ง ต้นคอ ไขสันหลังบวม ฐานกะโหลกศีรษะแตก อันเกิดจากการถูกทุบตีอย่างรุนแรง แขนหัก และกระดูกสันหลังแตก

วันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางการเฝ้าอธิษฐานของคนไทย ที่ต่างก็รับรู้ข่าวสารด้วยความสะเทือนใจ วันแล้ววันเล่า คนแล้วคนเล่า ที่เดินทางไปเยี่ยมดูอาการ ต่างขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครองครูจูหลิง และภาวนาขอให้เธอหายโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ขอให้มีปาฏิหาริย์ช่วยให้ฟื้นจากอาการบาดเจ็บที่เผชิญอยู่

เดือนกรกฎาคม ครอบครัวปงกันมูลก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับครูจูหลิงเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์ พร้อมกับรับสั่งให้สำนักพระราชวังติดตามสอบถามอาการ เพื่อถวายรายงานก่อน 10.00 น.ของทุกวัน พร้อมกันนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ รพ.สงขลานครินทร์ ถึง 3 ครั้ง เพื่อใช้ในการรักษาอาการของครูจูหลิง ตลอดจนช่วยเหลือครอบครัวปงกันมูล

มีการระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 18 สาขา 18 คน และพยาบาลวิชาชีพอีกจำนวนหนึ่ง ให้การเยียวยารักษาอย่างใกล้ชิด โดยมี "สูน กับ คำมี ปงกันมูล" พ่อและแม่เฝ้าดูแลอยู่ข้างๆ แต่ความจริงที่ดำรงอยู่อย่างปวดร้าวนั่นก็คือ อาการของครูจูหลิงอยู่ในภาวะทรงตัวตลอด นับตั้งแต่เข้ารับรักษาตัววันแรก

3 เดือนผ่านไป ครูจูหลิงยังไม่รู้สึกตัว ไม่มีอาการตอบสนองของสมองและก้านสมอง แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อควบคุมการหายใจอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ให้ยาป้องกันลิ่มเลือดที่ขาแข็งตัว เคาะปอดระบายเสมหะ ลดการอุดตันของปอด และให้อาหารทางสายยาง

ก่อนครบ 3 เดือน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้มอบโล่ "คนดีศรีอาชีวะ" ประเภทวิชาศิลปกรรม ให้แก่ ครูจูหลิง ในฐานะของผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

10 กันยายน 2549 ครอบครัวปงกันมูลก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาการป่วยของครูจุ้ยที่ รพ.สงขลานครินทร์

ปลายเดือนธันวาคม 2549 หรือ 7 เดือนให้หลัง รศ.น.พ.สุเมธ พีรวุฒิ ผอ.รพ.สงขลานครินทร์ ได้ร่วมหารือกับ น.พ.สมบูรณ์ศักดิ์ ญาณไพศาล ผอ.รพ.เชียงรายราชประชานุเคราะห์ และทีมแพทย์ กรณีย้ายครูจุ้ยกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด

"แม่ดีใจที่จะได้กลับบ้าน และเชื่อว่าจูหลิงก็ดีใจด้วยเช่นกัน แม่หวังว่าลูกของแม่จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการกลับบ้านเกิดครั้งนี้ จะทำให้ความรัก ความผูกพันที่มีต่อภูมิลำเนาเดิม ส่งผลให้อาการดีขึ้น แม้จะเป็นเพียงความเชื่อก็ตาม" คำมี ให้สัมภาษณ์เมื่อรู้ว่าเธอกับลูกจะได้กลับบ้าน

แต่สุดท้ายโชคชะตาก็เลือกที่ไม่ยืนอยู่ข้างผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เมื่อแพทย์ตรวจพบฝีในสมองจำนวนมาก จึงย้ายจากหอผู้ป่วยพิเศษกลับเข้าไปอยู่ในห้องไอซียูเพื่อผ่าตัดเอาฝีออก และความจริงที่พบอีกก็คือ สมองครูจุ้ยเริ่มฝ่อลงเรื่อยๆ ดังนั้น โครงการเคลื่อนย้ายครูจุ้ยกลับบ้านเกิดจึงต้องเลื่อนออกไป

แล้ววันที่ครูจุ้ยจะได้กลับบ้านก็มาถึง แต่เป็นการกลับโดยปราศจากลมหายใจ !!!

8 มกราคม 2550 การต่อสู้บนเส้นทางชีวิตที่แสนยากลำบาก ทั้งตัวครูจุ้ยเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คณะแพทย์ ตลอดจนคนไทยที่เฝ้าหวังว่า สักวันเธอจะกลับมาหายดีอีกครั้งก็ยุติลง

นับจากวันนี้ที่กูจิงลือปะจะไม่มีครูจุ้ยอีกต่อไป คงเหลือเพียงความทรงจำ และเรื่องราวของนักต่อสู้หญิงจากแดนไกล ผู้สละชีวิตให้กับมาตุภูมิในฐานะ "ครู" ผู้เสียสละ


กิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ