วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552

คำสอนของครูบาอาจารย์

ธรรมะประจำวัน
เย ธัมมา เหตุปปะภะวา
เตสัง เหตุง ตถาคะโต
เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ
เอวัง วาที มหาสมโณ

สิ่งเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคต (พระพุทธเจ้า) ได้ตรัสเหตุของสิ่งเหล่านั้น
รวมทั้งความดับของสิ่งเหล่านั้นด้วย
พระมหาสมณะได้ตรัสไว้อย่างนี้

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
เรื่องของกรรมคนเรานี้ย่อมมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อยังมีชีวิตอยู่กรรมนั้นจักเป็นทายาท ให้เราได้รับผลของกรรมนั้นสืบต่อๆไป

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร
อวิชชาเกิดมาจากอะไร? ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดา อวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อ ฐีติภูตํ ประกอบไปด้วย ความหลง จึงมีเครื่องต่อกล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติ คือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียกปัจจยาการ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
อวิชชารวมตัว ปกปิดจิตแท้ - ธรรมแท้

การพิจารณาเห็นสภาพทั้งหลายทั้งภายนอกทั้งภายในกาย
ทั้งในเจตสิกธรรมของตัวชัดขึ้นเท่าไร มันก็เห็นจุดที่อยู่ที่อาศัยของตัวการสำคัญชัดขึ้นๆ เมื่อพิจารณาตะล่อมเข้าไป ความรู้ของจิตมันก็แคบเข้าไป ความกังวลของใจก็น้อยเข้าไป กระแสของใจที่ส่งออกไปก็แคบ พอกระเพื่อมตัวออกไปเกี่ยวกับสิ่งใดก็พิจารณาเกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วย พิจารณาความกระเพื่อมของจิตที่ออกไปแสดงตัวด้วย ก็เห็นทั้งสองเงื่อนรู้เหตุรู้ผลกันทั้งสองด้าน คือด้านที่ไปเกี่ยวข้องสิ่งที่ถูกเกี่ยวข้องหนี่ง ผู้ไปเกี่ยวข้องหนึ่ง ปัญญาก็ขยับตัวเข้าไปเป็นลำดับๆ

เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ โดยมากนักปฏิบัติถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำไว้ก่อน จะต้องไปถือเอาตัวนั้นแลว่าเป็นตัวจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้พิจารณาเห็นชัดภายในใจแล้วว่า ได้รู้เท่าและปล่อยวางไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไรนั่น ทีนี้ก็ไปสงวนอันนั้นไว้ นี่แลที่ว่าอวิชชารวมตัวแล้ว แต่กลับมาเป็นตัวขึ้นโดยไม่รู้สึก จิตก็มาหลงอยู่นั้น ที่ว่าอวิชชาก็คือหลงตัวเองนี่แหละ ส่วนที่หลงสิ่งภายนอกนั้นยังเป็นกิ่งก้าน ไม่เป็นเรื่องของอวิชชาอันแท้จริง ...

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
เราเกิดมาในชาตินี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้มาพบพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลก สมควรที่จะลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์โดยความไม่ประมาท กิเลสบาปธรรมจะได้น้อยเบาบางจากดวงจิตของตน การที่คนเราจะพ้นทุกข์ไปไม่ได้ก็เพราะไม่ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้านั้นเอง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
คำว่ากรรม คือการกระทำของมนุษย์ที่พร้อมไปด้วยเจตนา คือ ความตั้งใจว่าจะทำ จะพูด จะคิด ทีนี้ ในเมื่อทำลงไปแล้ว จิตเขาบันทึกผลงานเอาไว้โดยธรรมชาติ บางทีเราเผลอทำความไม่ดีลงไป ภายหลังเรานึกว่ามันเป็นบาป เราจะกลับมาเปลี่ยนความคิดว่า "ฉันทำเล่นๆ ฉันไม่ต้องการผลตอบแทน" มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้...