วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จังหวัดชายแดนภาคใต้


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยระดมทรัพยากรทั้งบุคลากร และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณต่างๆเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถควบคุมสถานการณ์ และยุติปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การสร้างสันติสุขกลับมาสู่ผืนแผ่นดินแห่งนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับกันว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อนโดยเฉพาะในระบบสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันหลายมิติ ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องมีความละเอียดประณีต การใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาคงไม่สามารถนำความสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมั่นคงถาวร
จากผลการปฏิบัติในรอบปีที่ผ่านมาแม้จะถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่หลายฝ่ายพึงพอใจ ทำให้เกิดความคาดหวังจากประชาชนทั่วประเทศว่าจะสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปสู่ทิศทางของการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้ แต่ยังคงมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางประการที่เราต้องเพ่งเล็ง และให้ความสำคัญ อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ได้แก่
ประการที่ ๑ การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ต้องผนึกกำลังโดยไม่แบ่งแยกเป็นพวก เป็นฝ่าย ร่วมกันแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยถือบริบทของความสมานฉันท์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม และประเทศชาติ
ประการที่ ๒ การปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ต้องตระหนักให้จงดีว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี มีความเข้าอกเข้าใจประชาชน เพื่อมิให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งกันและกัน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมองประชาชนด้วยสายตาหวาดระแวง ขาดสายใยแห่งความผูกพัน และไมตรีจิต ก็คงหวังไม่ได้ที่จะให้ประชาชนคืนความจริงใจกลับมาสู่ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามความสงบสุขจะยิ่งหนีห่างออกไปอีก เป็นเท่าทวีคูณ สิ่งเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชา ต้องตระหนักรู้ และใส่ใจกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา โดยปรับทัศนคติให้เปิดกว้าง ลดความหวาดระแวง มอบความไว้ใจซึ่งกันและกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ประการที่ ๓ การดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบปีที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการตาม แผนงาน/โครงการ ตามกลยุทธ์ในกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคง และด้านการพัฒนา แม้ว่าแผนงานโครงการดังกล่าว จะผ่านการกลั่นกรองตามกระบวนการ จนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้ก็ตามแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักก็คือการประเมินผลการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อเสริมจุดด้อย ชูจุดเด่น ให้บังเกิดแรงขับเคลื่อนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พัฒนาดียิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละห้วงเวลา มิฉะนั้นจะเป็นเพียงการย้ำเท้าอยู่กับที่
ประการที่ ๔ ประชาชนคือศูนย์กลางแห่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เป็นกลไกหลัก ตัวจักรสำคัญยิ่ง ดังนั้นการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม หรือมีส่วนรวมในทุกกระบวนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มวางแผน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จะทำให้เห็นถึงความจริงใจของภาครัฐ และ เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาชน อันจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างบริบูรณ์
ประการที่ ๕ ส่วนราชการ เอกชน รวมทั้งประชาชนคนไทย ที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตระหนักว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศลำดับแรก จึงต้องมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่ของตนเองให้มากที่สุด เช่น คัดเลือกเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประณีต รอบคอบ แก้ไขช่องว่างของกฎระเบียบข้อบังคับ ให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ การจัดกิจกรรมสนับสนุน ช่วยเหลือ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ล้วนส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังร่วมมือแก้ไขปัญหา เพื่อนำความสันติสุขร่มเย็นกลับมาสู่พื้นที่ เช่นในอดีตที่ผ่านมา ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของชาติคงยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ความสำเร็จมิได้อยู่ที่การนับศพหรือควบคุมตัวกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมายนานับปการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกนายต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทุ่มเท เสียสละ และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่น อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

พระราชดำรัส



“...จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้...”


พระราชดำรัส
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙

วิชกานต์ กุลศิริปัญโญ