วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เขาพระวิหาร โอกาสและวิกฤตไทย-กัมพูชา


เขาพระวิหาร โอกาสและวิกฤตไทย-กัมพูชา

หมายเหตุ — บทความนี้ดัดแปลงจากเรื่อง “ไทย–กัมพูชา : โอกาสและวิกฤต” จากจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 38 ของโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีนายสุรชาติ บำรุงสุข เป็นบรรณาธิการ




สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากำลังเข้าสู่สภาวะของความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ความพยายามของกัมพูชาในการยกฐานะให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก อาจนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยมเก่าในไทย โดยผูกโยงกับแนวคิดเรื่องการเสียดินแดน เพราะการเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหาร อาจต้องนำพื้นที่บางส่วนของรัฐไทยเข้าไปรวมอยู่ด้วย
ขณะเดียวกันการเสนอของกัมพูชา แต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้ปราสาทเขา พระวิหารเป็นมรดกโลก โดยมิใช่การ “เสนอร่วม” ทั้งกัมพูชาและไทย ทำให้ ฝ่ายไทยคัดค้านในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ผ่านมา จนต้องเลื่อนการเสนอดังกล่าวออกไป
ดังนั้น ในการเสนอครั้งใหม่ คงยากที่ฝ่ายไทยจะสามารถทัดทานได้ เพราะคณะกรรมการมรดกโลกได้ให้เวลา 1 ปี เพื่อให้ไทยและกัมพูชาหาข้อยุติ ซึ่งหากไทยจะดำเนินการในลักษณะทัดทานต่อเรื่องดังกล่าวอีก ก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีการประชุมดูไม่ดี เหมือนว่าปล่อยให้ระยะเวลาผ่านเลยมาโดยไม่ได้ทำอะไรเท่าใดนัก ในขณะที่กัมพูชาได้ โน้มน้าวมหาอำนาจและประเทศหลักๆ ในคณะกรรมการมรดกโลกให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ฉะนั้นการ “ซื้อเวลา” ด้วยการประวิงเวลาในการประชุมไปอีกรอบ (1 ปี) ก็คงเป็นไปได้ยาก
ผลจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้สังคมไทยควรจะตอบคำถามด้วยตัวเองให้ได้จริงๆ ว่า ถ้าปราสาทเขาพระวิหารถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้ว สังคมไทยจะยอมรับได้หรือไม่ อีกด้านหนึ่ง ปัญหา “การเมืองเรื่องโบราณสถาน” กรณีปราสาทเขาพระวิหารเช่นนี้ ตอบอะไรแก่สังคมไทยบ้าง
หากพิจารณาปัญหาข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี 2505 จนถึงแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะเริ่มขึ้นในอนาคต รวมกับกรณีของการสิ้นสุดยุคสมัยของโลกความมั่นคงในอดีต อันได้แก่การยุติของสงครามเย็นแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนของข้อสังเกตประการสำคัญว่า ในยุคสงครามเย็น ปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการมองปัญหาของรัฐ
ดังนั้น แม้ว่าในปี 2505 ไทยจะต้องพ่ายแพ้ในการนำเอาความขัดแย้งในกรณีปราสาทเขาพระวิหารเข้าสู่กระบวนการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามาโดยตลอดก็ตาม
แต่ในระยะต่อมาความรู้สึกชาตินิยมกับการต้องสูญเสีย (แพ้คดี) ปราสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา ก็เริ่มค่อยๆ ถูกกลบลงด้วยพัฒนาการของสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ที่ทำให้รัฐและสังคมไทยต้องกังวลอยู่กับเรื่องของคอมมิวนิสต์ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชา มากกว่าเรื่องของความรู้สึกที่ต้องสูญเสียปราสาทเขาพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการยึดอำนาจของกลุ่มขวา และคณะทหารในกัมพูชา ที่ทำให้เจ้าสีหนุต้องพลัดถิ่น
รัฐบาลทหารในกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การทำสงครามอินโดจีน ผลเช่นนี้ทำให้ผู้นำไทยสบายใจขึ้นสักนิดว่า กัมพูชามีรัฐบาลนิยมตะวันตกเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้าง “รัฐกันชน” เพื่อขัดขวางต่อการขยายอิทธิพลของเวียดนาม
เรื่องราวดังกล่าวในช่วงเวลานั้น ทำให้ต้องรำลึกถึงสงครามระหว่างสยามกับญวนในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2376 และมาสิ้นสุดในช่วงกลางปี 2389 ในบริบททางประวัติศาสตร์ก็คือ ทั้งสยามและญวนต่างก็พยายามขยายอิทธิพลเข้าครอบครองที่ราบลุ่มของแม่น้ำโขง อันเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ
ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงของสยามอีกครั้ง เมื่อสยามจำเป็นต้องทำความตกลงกับผู้แทนของรัฐมหาอำนาจ (อันเป็นผลจากการพัฒนาความเป็นรัฐประชาชาติที่เกิดขึ้นในการเมืองโลกยุคใหม่) รวมถึงการต้องทำความยินยอมที่จะยกพื้นที่บางส่วนในแนวลำน้ำโขงให้กับเจ้าอาณานิคมตะวันตก เพื่อแลกกับการลดแรงกดดันของความต้องการผนวกสยามเข้าเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น
ผลจากการนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการ สิ้นสุดของการแข่งขันเชิงอำนาจระหว่างสยามกับญวนเท่านั้น ยังหมายถึงอาณาเขตของรัฐสยามอยู่ติดตลอดแนวพรมแดนกับรัฐอาณานิคมของตะวันตก จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก ในสภาพเช่นนี้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศสำคัญประการหนึ่งของรัฐสยามในยุคนั้นจึงได้แก่ การแบ่งเขตอธิปไตยของรัฐด้วยการปักปันเขตแดน
จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บรรดาประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น เริ่มทยอยเป็น “ผู้สืบสิทธิ” จากประเทศ อาณานิคม โดยเฉพาะการเป็นผู้รับมรดก ดินแดน และในขณะเดียวกันสยามก็ได้ยอมรับสถานะของเส้นเขตแดนเช่นนี้มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์
แม้จะมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเช่นใดก็ตาม ก็ใช่ว่าสยามจะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์ของตนได้ตามอำเภอใจ จะต้องได้รับการยอมรับจากประเทศที่มีแนวชายแดนติดกันในรูปของการทำสนธิสัญญาใหม่ มรดกของปัญหาเส้นเขตแดนที่ถูกกำหนดจากเจ้าอาณานิคมก็ยังคงตกทอดจนถึงปัจจุบัน
ในกรณีเส้นเขตแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีเขาพระวิหาร ปรากฏว่าไทยต้องพ่ายแพ้มาแล้วในปี 2505 เมื่อมีแนวโน้มในสถานการณ์ปัจจุบันที่กัมพูชาต้องการให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้นก็หวนกลับมาให้ต้องขบคิดกันอีก ในท้ายที่สุดแล้วปัญหาย่อมหลีกหนีไม่พ้นจากกรณีพิพาทเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยตรง
ในโลกของการเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่ หนึ่งในแนวทางที่ถูกใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนไม่ใช่สงคราม แต่มักจะออกมาในรูปของการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทร่วมกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เจดีเอ” (Joint Development Areas–JDA)
ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ความเป็นมรดกโลกกลายเป็นปัจจัยให้เกิดสงครามชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว การทำปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง โดยอาจจะเรียกว่า “พื้นที่พัฒนาร่วมทางวัฒนธรรม” (Joint Cultural Development Areas) หรือ “JCDA” หรืออาจจะทำเป็น “พื้นที่ท่องเที่ยวร่วม” (Joint Tourism Areas) หรือ “JTA” เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งสอง
ข้อเสนอไม่ว่าจะเป็น “JCDA” หรือ “JTA” ก็เพื่อหวังว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา จะก้าวจาก “วิกฤตสู่โอกาส” และในขณะเดียวกันก็จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดสถานการณ์จาก “โอกาสสู่ วิกฤต” ที่จะนำไปสู่ความบาดหมางในระหว่างพี่น้อง และผองญาติของคนในไทยและกัมพูชา กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของปราสาทเขาพระวิหาร


ข้อมูลจาก : ฝ่ายงานสื่อสารสังคม (สกว.)