วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ญิฮาด ( جهاد Jihad)


ญิฮาด ( جهاد Jihad) เป็นคำหนึ่งในภาษาอาหรับที่ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนมากที่สุด จนทำให้เกิดเป็นมายาคติที่ว่า "อิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย" มีมุสลิมบางคนได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสมจากกรอบแนวคิดเรื่อง ญิฮาด เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมืองของตน ญิฮาด มาจากคำกริยา ญะฮะดะ ในภาษาอาหรับหมายถึง ความพยายาม ในทางศาสนาเป็น ความพยายามที่จะเพิ่มศรัทธาในพระเจ้ารวมทั้งการทำความดี การเผยแพร่ศาสนา

ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มิใช่มุสลิมจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ ญิฮาด แล้วตีความหมายแบบผิดๆ ซึ่งทำให้มุสลิมและอิสลามเกิดความเสื่่อมเสีย หรือทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ
ผู้ทำการญิฮาด เรียกว่ามุญาฮิด พหูพจน์เรียกว่ามุญาฮิดีนญิฮาดในอัลกุรอาน
ความหมายของญิฮาดในอัลกุรอานมีหลายความหมาย เช่น
การดิ้นรนของจิตวิญาณ เช่นในอัลกุรอาน (29:69) และบรรดาผู้ที่ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา
ความพยายามในการควบคุมอารมณ์ของตน และการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น "ผู้ใดต่อสู้ดิ้นรน แท้จริงเขาย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวเอง
โดยสรุปในอัลกุรอานให้มุสลิมทำญิฮาดเพื่อความโปรดปรานและได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า มิใช่การต่อสู้กับผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยอาวุธหรือความรุนแรง
ญิฮาดในหะดิษ
ในหะดิษซึ่งเป็นการรวบรวมคำพูด โอวาทหรือการปฏิบัติตนของท่านมุฮัมมัด ได้ให้ความหมายของญิฮาดในการต่อสู้เพื่อทำให้จิตใจของตนบริสุทธิ์ เช่นกล่าวว่า การรบในสมรภูมิเพื่อศาสนาเป็นญิฮาดเล็ก การต่อสู้กับความอ่อนแอของตนคือญิฮาดใหญ่ และญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การพูดความจริงต่อหน้าผู้กดขี่
ญิฮาดในคำอธิบายของนักวิชาการมุสลิม
นักวิชาการมุสลิมแบ่งญิฮาดเป็น 4 ประเภทคือ
ญิฮาดโดยหัวใจ คือการต่อสู้กับกิเลสตัณหาในตัวเอง
ญิฮาดโดยลิ้น คือการเผยแพร่ศาสนาโดยใช้วาจา
ญิฮาดโดยมือ คือการสนับสนุนความถูกต้องโดยใช้กำลังร่างกาย
ญิฮาดโดยอาวุธ คือการตอบโต้การกดขี่ข่มเหงด้วยกำลังอาวุธเมื่อไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่น

ในทางศาสนาอิสลามแล้ว คำนี้ไม่ได้หมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ดังที่ผู้มิใช่มุสลิมเข้าใจ และเป็นศัพท์ทางศาสนาคำหนึ่งที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยครั้ง คำว่าญิฮาดนี้มีปรากฏทั้งในอัลกุรอ่านแลหะดิษต่างๆ
การทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลาย เพื่อเทิดทูนคำสั่งแห่งอัลลอฮฺ
ให้อิสลามสถิตอยู่ในโลกอย่างมั่นคง ซึ่งจะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น วิชาความรู้ การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใดที่ใช้ความพยายามในด้านใดก็ตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักธรรมคำสอนของอิสลามดำรงอยู่ในสังคม ก็ถือได้ว่าได้ทำการญิฮาดแล้วทั้งสิ้น ผู้ทำการญิฮาด เรียกว่า มุญาฮิด โดยนัยนี้นักการเมืองหากทำงานการเมือง โดยวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นมุญาฮิดทางการเมือง นักธุรกิจที่ทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ก็เป็นมุญาฮิด ในทางเศรษฐกิจดังนี้เป็นต้น
ญิฮาด หรือการก่อการร้าย
โดย อ.อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ) นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@Chaiyo.com Fax 0-7443-1354 มติชนรายวัน วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9890

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมหมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำ คือ ญิฮาดและการก่อการร้าย ที่จำเป็นสำหรับผู้รู้หรือนักวิชาการมุสลิม จะต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมมุสลิม เพราะมีความเข้าใจผิดกันมากและได้ถูกนำไปใช้กันอย่างผิดๆ

อาจจะมีผู้ถามว่า ทำไมศาสนาอิสลามจึงมีการกำหนดการทำสงคราม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าอิสลามมีความเข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหรืออนาคต ว่าเป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะปราศจากสงคราม ดังนั้น ในทางที่ดี เพื่อความยุติธรรม และความเสียหายอาจจะขยายเพิ่มขึ้น ดังนั้น อิสลามจึงกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การทำสงคราม

แต่เป็นที่น่าเสียใจ มีมุสลิมบางคน บางกลุ่ม ได้นำเอาแนวความคิดการญิฮาดไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง หรือต้องการแก้แค้นเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม

มีมุสลิมหลายคนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างผิดๆ และมีผู้ที่มิใช่มุสลิม โดยเฉพาะสื่อมวลชนหลายแขนงอธิบายความหมายของคำว่าญิฮาดไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถแยกแยะระหว่างญิฮาดและการก่อการร้าย

ความหมายของ "ญิฮาด"

- ในด้านภาษา "ญิฮาด" เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า "ญะฮฺดุน" ซึ่งหมายถึง "การทำอย่างยากลำบาก, การปฏิบัติย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า" หรือมาจากคำว่า "ญุฮฺดุน" ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจัง

- ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการใช้ความพยายามเพื่อบรรลุถึงความดี และการป้องกันความชั่ว

ญิฮาดสามารถปฏิบัติได้ในหลายๆ ด้าน โดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือ โรคภัยไข้เจ็บ และการต่อสู้ต่อพลังความชั่วในโลกทั้งหมด ดังนั้น ญิฮาดจึงมีหลายประเภท แต่ผู้เขียนขอกล่าวถึงญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก

กล่าวคือ ญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม

จะเรียกว่าญิฮาดชนิดนี้ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม

2.ถูกลิดรอนสิทธิด้านศาสนา

3.จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน

4.อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม เช่น ต่อสู้ต่อบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่อย่าเริ่มการเป็นศัตรูก่อน แท้จริง "อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน"(ดูกุรอาน 2:190)ไม่ทำลายศพ ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีสัญญาสงบศึกไม่ตัด หรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล ไม่ฆ่าสัตว์ เช่น แกะ วัว หรืออูฐ นอกจากเพื่อเป็นอาหาร ให้ความเมตตาและการเอาใจใส่หรือบริการทางการแพทย์ และการพยาบาลต่อเชลยสงคราม เพราะอัลลอฮฺดำรัสความว่า

"แท้จริง บรรดาผู้ทรงคุณธรรมนั้นจะได้ดื่มน้ำที่ผสมด้วยการบูรหอมจากแก้วน้ำ เป็นตาน้ำพุที่บ่าวของอัลลอฮฺ จะได้ดื่มโดยทำให้มันพุ่งออกมาอย่างล้นเหลือ เพราะพวกเขาปฏิบัติตามคำสัตย์สาบาน และกลัววันที่ความชั่วร้ายของมันแพร่กระจายออกไป และพวกเขาให้อาหารแก่คนขัดสน เด็กกำพร้าและเชลย เพราะความรักต่อพระองค์ พวกเขากล่าวว่า "เราให้แก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้น และเรามิได้หวังการตอบแทนหรือการขอบคุณจากท่านแต่ประการใด" (กุรอาน 76:5-9)

และท่านนบีมุฮัมมัดได้สั่งบรรดาสาวกของท่านให้ทำดีต่อเชลย ครั้งหนึ่งท่านได้สั่งสาวกของท่านโดยกล่าวว่า "ท่านจะต้องปฏิบัติต่อเชลยด้วยดี"

เพราะฉะนั้น สงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศ หากไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือการก่อการร้าย(ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ)

ญิฮาดจึงมิใช่การก่อการร้าย อิสลามไม่อนุมัติการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะโดยการรุกรานหรือโดยวิธีการพลีชีพ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม

อิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่ และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด

การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหาย และความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆ ไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุน เพราะอัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า : "เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า "จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน" พวกเขากล่าวว่า "เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆ ต่างหาก" แท้จริงพวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่"(กุรอาน 2:11-12)

อิสลามต้องการที่จะสร้างระเบียบโลกที่มนุษย์ทั้งหมด ทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม ในความสันติและความสมานฉันท์

อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม และอิสลามบอกให้มุสลิมถึงให้มิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

มีโองการอัลกุรอ่านมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่น อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า "อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาแท้จริง อัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (60:8)

จากโองการข้างต้นพบว่า : อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ใช้ผู้ศรัทธาทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรไมตรีให้ความช่วยเหลือต่อกัน และให้ความยุติธรรมซึ่งกันและกัน ตราบใดที่เขาเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิและขับไล่ผู้ต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์

อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า : และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์(อัลลอฮฺ) แก่คนยากจน กำพร้า และเชลยศึก(76:8)

อิหม่าน al-Zuhaili กล่าวว่า "ผู้เปี่ยมล้นด้วยความศรัทธานั้น เขาจะให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือต่างศาสนิก"

ในสังคมสมัยใหม่ที่โลกกลายเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งผู้ที่มิใช่มุสลิมอาศัยอยู่กับมุสลิมในประเทศมุสลิม และมุสลิมอาศัยอยู่กับผู้ที่มิใช่มุสลิมในประเทศที่ผู้มิใช่มุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เรามีหน้าที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ดี และถูกต้องในหมู่พวกเรากันเอง จะต้องทำงานเพื่อสันติภาพ และความยุติธรรมสำหรับประชาชนทั้งหมด และร่วมมือกันในเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อที่จะยับยั้งลัทธิการก่อการร้าย การรุกราน และการใช้ความรุนแรงต่อคนบริสุทธิ์ ผู้เขียนคิดว่านี่ต่างหากคือการญิฮาดของเราในปัจจุบัน

สรุป : จะเรียกญิฮาดได้ต้องมีเงื่อนไขที่สมบูรณ์ เจตนาดี และวิธีการถูกต้อง

หากมีเพียงเงื่อนไขสมบูรณ์ เจตนาดีแต่ไม่คำนึงวิธีการจะไม่เรียกว่าญิฮาด แต่จะกลับกลายเป็นการก่อการร้ายทันที เพราะการก่อการร้ายคือก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก ถึงจะอ้างว่าทำไปเอาความยุติธรรมกลับคืน

หมายเหตุเรียบเรียงจาก

1.Siyid Sabig. 1993. Fig Sunnah. Cairo.Dar al-Fath.3/82-83

2.al-Zuhaili,wahbah.1991 al-tafsir al-Munir. Damascus:Dar al-Fikr.28/135

3.http://www.muslimthai.com/contentfront.php?option=content&id=575