วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแ ต่เหตุการณ์ปล้นปืนกองพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ มีความรุนแรง มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการก่อเหตุร้ายขึ้นมาตามลำดับ
สภาพปัญหาโดยรวมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษา, ความยุติธรรม, ความยากจน, ยาเสพติด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งได้ยึดโยงกับปัญหาสังคมจิตวิทยาที่เป็นปัญหาพื้นฐานมาค่อนข้างยาวนาน ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและหวาดระแวง โดยเฉพาะการถูกชี้นำให้เกิดขบวนการต่อสู้ มุ่งหวัง แบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง โดยอาศัยอัตลักษณ์ความเป็นเชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐปัตตานีในอดีต จนกระทั่งมีขบวนการต่อสู้ที่สำคัญใช้ชื่อว่า ขบวนการ BRN, PULO และมูจาฮีดีน มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๓
ต่อมา ผลจากการแตกแยกภายในขบวนการผนวกกับการแก้ปัญหาที่ได้ผลของภาครัฐทำให้กลุ่มขบวนการเหล่านั้นอ่อนแอลง จะมีเพียงขบวนการ BRN Co-ordinate ซึ่งแยกออกมาจากขบวนการ BRN เท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหว จากการมุ่งเน้นซ่องสุมกองกำลังติดอาวุธเป็นบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง ในสถานการศึกษาตั้งแต่ระดับ ตาดีกา ปอเนาะ, โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการใช้มัสยิดอีกแหล่งหนึ่งด้วย
กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN Co-ordinate ได้ดำรงความมุ่งหมายการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเองโดยใช้ยุทธศาสตร์ตามแผนงาน “การปฏิวัติ ๗ ขั้นตอน” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ และใช้งาน “ การจัดตั้ง ” เป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จของการปฏิวัติแยก “ รัฐปัตตานี ” ทั้งนี้ จะใช้รูปแบบของการแอบแฝง ปะปนอยู่กับประชาชนและใช้เทคนิคการก่อการร้าย ,การบ่อนทำลาย , การสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและคนไทยที่นับถือศาสนามุสลิม, การแพร่มลทินต่อเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งสร้างความหวาดกลัวเพื่อควบคุมประชาชนและยั่วยุให้รัฐใช้ความรุนแรงตอบโต้
ขบวนการ BRN COORDINATE เป็นองค์กรลับ ใช้การปลุกระดม ขยายข่ายงาน สร้างสมาชิกและแนวร่วม ด้วยเงื่อนไขเชื้อชาติ, ศาสนาและมาตุภูมิ มีโครงสร้าง ประกอบด้วย
โครงสร้างสภาองค์กรนำ และโครงสร้างในองค์กรมวลชน เป็นโครงสร้างทางการเมือง การปกครองที่ใช้ในการควบคุมมวลชนจัดตั้ง จะแบ่งเขตการปกครองทับซ้อนอำนาจรัฐไทย ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านหรือ อาเยาะห์ ไปจนถึงระดับเขตหรือกัส
องค์กรจัดตั้งที่สำคัญที่สุดคือหมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านอันเอื้อ อำนวยให้กองกำลังติดอาวุธดำรงอยู่ได้เพื่อก่อเหตุร้ายรายวัน ที่พิสูจน์ทราบแล้วมีหมู่บ้านที่จัดตั้งไว้แล้วอย่างน้อย ๒๑๖ หมู่บ้าน โครงสร้างกองกำลังติดอาวุธ : จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ กองกำลังประจำถิ่นที่อยู่ประจำเขตการปกครองในแต่ละระดับ กับกองกำลังปฏิบัติการพิเศษที่สามารถเคลื่อนไหวทั้งประจำเขตการปกครองและนอกพื้นที่
การจัดตั้งกำลังติดอาวุธนั้น จะเริ่มบ่มเพาะจากกลุ่มเด็กเล็กภายในตาดีกาและเยาวชนภายในปอเนาะ ผ่านทางอุสตาส โดยคัดเลือกคนที่มีร่างกายแข็งแรง เรียนเก่ง ปลูกฝังความคิด ความเชื่อแล้วทำการซูมเปาะ และฝึกทางยุทธวิธี ของหน่วยทหารขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่าการฝึก “RKK”
กลุ่ม“RKK หรือ คอมมานโด” จะใช้หมู่บ้านจัดตั้งเป็นฐานที่มั่น ออกปฏิบัติการในพื้นที่ ไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่มีเงินเดือน ไม่ติดอาวุธ โดยมีกลุ่มทหารบ้านหรือตุรงแงคอยให้การสนับสนุนในการติดตามความเคลื่อนไหวของ จนท.รัฐ,กำหนดเป้าหมาย จัดหาอาวุธและที่เก็บซ่อนและให้ความช่วยเหลือในการหลบหนี
สำหรับแนวนโยบายแห่งรัฐในการแก้ปัญหานั้นจะใช้มาตรการต่างๆ ในการนำสันติสุขกลับคืนสู่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเร็ว จึงได้กำหนดเครื่องมือในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งด้านนโยบาย และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มาตามลำดับ ปัจจุบันมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบ โดยได้กำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงสำหรับภัยคุกคามกรณีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นความสำคัญเร่งด่วนแรก และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ขึ้นมา โดยมอบให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และสมดุล ตลอดทั้งบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ให้ผสมผสานกัน อย่างสอดคล้อง และเป็นระบบ ซึ่งมีหน่วยรองหลักประกอบด้วย กองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า รับผิดชอบต่อการเร่งรัด สืบสวน จับกุม นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไปอีกด้วย
การปฏิบัติงานทั้งด้านการทหารและการเมืองที่ดำเนินการมาทั้งหมด ได้ตระหนักอยู่เสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้ จึงจะต้องทำให้ประชาชนเหล่านี้มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้จงได้ ทั้งนี้จะไม่สร้างเงื่อนไขใดใดที่จะผลักดันประชาชนเหล่านี้ให้ไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด
แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ ๕ ปี ขึ้น โดยพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายเสริมสร้างสันติสุขและแนวทางในการปฏิบัติที่รัฐบาลกำหนด โดยมีกรอบการดำเนินงาน ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา



………………………………