วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พลังคำพูด



พลังคำพูด
๑ กล่าวทั่วไป
"ด้วยมนุษย์ พูดกัน ทุกวันนี้
ไม่มีที่ หยุดหน่วง เหมืองห้วงเหว
ไม่มีรส หมดเนื้อ เหลือแต่เปลว
พูดเหลวเหลว มีมาก ไม่อยากฟัง………….."
จาก "นิราศทวาราวดี"
เราเคยนับคำพูดประจำวันของเรากันบ้างหรือเปล่าว่า ในวันหนึ่ง ๆ เราพูดกันคนละประมาณที่คำ นายเอลเม่อร์ วิลเลอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้รวบรวมทำเป็นสถิติไว้ว่า โดยเกณฑ์เฉลี่ยแล้ว มนุษย์พูดกันคนละประมาณ ๓๐,๐๐๐ คำต่อวันถ้าเรานำคำพูดประจำวันเหล่านี้มาพิมพ์เป็นหนังสือ เราจะได้หนังสือเล่มย่อม ๆ วันละเล่ม
ถ้าถ้อยคำในหนังสอเต็มไปด้วยถ้อยคำประเภท "พูดแต่ดี" ผู้อ่านก็จะอ่านด้วยความรู้สึกที่ติดอกติดใจ เลื่อมใสศรัทธาหรือเชื่อถือปฏิบัติตาม หากในหนังสือมีแต่ถ้อยคำประเภท "ดีแต่พูด" ปราศจากสาระประโยชน์ ก็จะไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้อ่านคนใดเลยสักคนเดียว
อันที่จริง อย่าถามเลยว่ามนุษย์เรานี้เคยนับคำพูดประจำวันของตัวเองบ้างหรือเปล่า ในวันหนึ่ง ๆ เกือบจะวาไม่มีใครสนใจคำพูดประจำวันเหล่านั้นได้ให้คุณให้โทษแก่เขาเพียงใดเสียด้วยซ้ำไปด้วยเหตุมนุษย์ละเลยการประเมินผลคำพูดของตนเองนี่เอง คำกล่าวในนิราศทวาราวดีดังกล่าวไว้ข้างต้น จึงเป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบันนี้
คำพูดเป็นสิ่งที่มีรสชาดเรียกว่า "รสน้ำคำ" ดังสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า
ถึงบางพูด พูดดี เป็นศรีศักดิ์
มีคนรัก รสถ้อย อร่อยจิต………..
ข้อความที่ว่า "มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต" เป็นความหมายที่เด่นชัดว่าคำพูดมี "รสชาติ" ซึ่งเป็นอาหารของจิตใจที่ผ่านเข้ามาทางประสาทหู
คำพูดเป็นเครื่องปรุงการพูดให้เกิดความเรืองรอง มีชีวิตชีวา
คำพูดเมือหลุดออกจากปาก จะพุ่งเข้าสู้หูผู้ฟังทันที ไม่มีอะไรมายับยั้งได้ เราไม่สามารถสั่งให้คำพูดหยุด เหมือนหอบังคับการบินสั่งให้เครื่องบินหยุดบิน เราไม่สามารถยิงคำพูดให้ตกลงมาเหมือนการยิงนก
ทันทีที่คำพูดพุ่งเข้าสู่หูผู้ฟัง ก็จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ ถ้าไม่เป็นการสร้างมิตรก็ต้องก่อศัตรู คำพูดดังกล่าวจะเข้าไปเสียดแทงหัวใจ ที่มาตำมันสมอง และแล้วอาจจะประทับความรู้สึกที่ดี หรือไม่ก็ฝังความรู้สึกที่เลว ๆ ไว้ในสมองของฟังอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ
คำพูดเป็นทั้งยาบำรุงจิตใจให้เกิดพลังเข้มแข็ง มานะ อดทน หรือตรงกันข้าม อาจทำให้ท้อถอยหมดกำลังใจ หรือเสียผู้เสียคนไปเลยก็มี
ไม่เพียงแต่หินหรือเหล็กเท่านั้นที่สามารถทุบกระดูดให้แตกได้ คำพูดก็มีทางทำได้เช่น กัน คำพูดที่เกิดจากการขาดความระมัดระวัง ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ฟังเจ็บปวดเท่านั้น มันยังสามารถทำความพินาศย่อยยับแก่ผู้พูดมามากต่อมาก
นักการพูดตระหนักเสมอว่า การพูดก่อนคิดเป็นจุดที่ "อ่อนแอที่สุด" การปล่อยคำพูดออกไปโดยปราศจากความยั้งคิดเพียงเสี่ยววินาทีเดียว แม้จะใช้เวลาเป็นปี ๆ ก็ไม่สามารถถอนคำพูดคืนหรือลบมันทั้งได้ มิตรภาพที่พยายามสร้างขึ้นมาด้วยเวลานานนับปี เพียงเอ่ยคำรุนแรงคำเดียวความเป็นมิตรก็ขาดสะบั้นลงในฉับพลัน
คำพูดมิได้มีฤทธิ์เดชเพียงพุ่งเข้าสู้หูผู้ที่เรากล่าวถึงโดยตรงเท่านั้นมันสามารถเล่นผ่านจากหูผู้หนึ่งไปยังหูของอีกผู้หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นคือพูดที่กล่าวกับคน ๆ หนึ่ง แล้วถูกถ่ายทอดไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะแผลงฤทธิ์หนักข้อขึ้นอีกหลายเท่า
การใช้คำพูดที่ไร้สาระก็ดี การสร้างข่าวลือก็ดี การซุบซิบนินทาก็ดี การกล่าวถึงความประพฤติของผู้อื่นก็ดี เปรียบได้กับการเติมยาพิษลงในคำพูด และมักจะเกิดอันตรายมากกว่าความปลอดภัยรอเบิร์ต บัตเลอร์ ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า "ถ้าเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และเซ็นชื่อกำกับรับรองไม่ได้ ก็อย่าพูดถึงมันเสียเลย……….."
รัฐบุรุษ และสตรีสำคัญ ๆ ของโลก เช่น อับราฮ์ม ลินคอล์ม วินสตัน เชอร์ชิลล์ นางโกลดาร์แมร์ อินทิรา คานธี หรือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แห่งประเทศไทย หาได้เป็นนักพูดมาแต่ เกิดไม่
ทำไมบุคคลสำคัญเหล่านี้ เวลากล่าวสุนทรพจน์ จึงเป็นที่จับอกจับใจลึกซึ่งแหลมคม ประทับใจ น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง จนกลายเป็นสุนทรพจน์อมตะที่กล่าวขวัญกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
คำตอบคือ
การศึกษาวิธีพูด ประสบการณ์ และการฝึกฝนนั้นเอง
คำพูดเกิดจากการศึกษาวิธีพูด และประสบการณ์และการฝึกฝน เป็นคำพูดประเภท มีพลัง
คำพูดเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด ในการกระตุ้นให้ผู้อื่นกระทำ
ในการพูดทุกครั้ง โปรดจำไว้ว่า "จงให้คำพูดเหมาะกับการกระทำ"
จงพูดพร้อมกับทำ เพื่อให้ตาและหูของผู้ฟังทำงานพร้อมกัน
จงเพาะแนวความคิดลงในสมองของผู้ฟัง จนผู้ฟังเชื่อว่าเป็นความคิดของเขาเอง
ขอให้เรามาปรับปรุงถ้อยคำให้มีพลังกันเถิด และถ้อยคำที่มีพลังจะปรับปรุงการพูดของเราให้ทรงพลังยิ่งขึ้นไป

๒ ปัจจัยการเพิ่มพลังคำพูด
ก. อิทธิพลของคำสรรพนาม
โดยทั่วไป คนเรามักมองไม่เห็นความสำคัญ มองข้าม หรือไม่ก็นึกไม่ถึงว่าคำ "สรรพนาม" ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ นอกจากจะใช้แทนคำนามแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์ประการใดอีก อย่างดีหน่อยคนที่พิถีพิถันก็รู้จักใช้สรรพนามได้ถูกต้องกับกฏไวยากรณ์ สุภาพ และเหมาะสมกับกาลเวลาหรือโอกาสเท่านั้นหากมองทางด้านจิตวิทยา และพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จะเห็นว่าคำ "สรรพนาม" มีอิทธิพลต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่รู้จักใช้คำ "สรรพนาม" ในระหว่างการพูดจะช่วยให้การพูด มีพลัง ขึ้นอย่างน่าประหลาด คำว่า ……
ท่าน………… เป็นคำทรงพลังที่สุดในทุกภาษา
เรา…………… เป็นคำทรงพลังที่ถัดลงมา
ฉัน……………. เป็นคำที่เล็กที่สุดและอ่อนที่สุดในภาษามนุษย์
ท่านและเรา…... ใช้ด้วยกัน ผสมกลมกลืนกันยิ่งนัก
ท่านและเรา……ใช้ด้วยกัน จะทรงพลังเสียยิ่งกว่าใช้อย่างเดียว
คนทั่วไปมักมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในวงการทูตถือว่าเป็น “ เรื่องเล็ก “ “อาจก่อให้เกิด “เรื่องใหญ่ที่เสียหาย “ หรือเรื่องเล็กนั่นแหละอาจนำมาซึ่ง “ เรื่องใหญ่โตที่เป็นความก้าวหน้าของโลก อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ………. “
เวลาที่ทุกคนพูด “ มักชอบฉุดตัวเองออกจากความเป็นกันเองของผู้อื่นเสมอ โดยไม่รู้ตัว มิใช่สิ่งอื่นใด ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้ สรรพนาม นั่นที่เดียว
การพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยเราท่านหนึ่ง กล่าวในวันไปรับตำแหน่งใหม่ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ต่อหน้าราชการและประชาชน ณ ศาลาประชาคมของจังหวัด ซึ่งตลอดเวลาของการพูด มีคำว่า "ข้าพเจ้า" มากมายถึง ๔๔ ครั้ง เกือบจะไม่มีคำว่า "ท่าน กับ เรา หรือ พวกเรา เสียเลย
ในที่สุด ผู้ว่าราชการท่านนี้ก็อยู่ที่จังหวัดนั้นได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปที่อื่น คงอาจเป็นเพราะว่า ข้าราชการและประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เพราะข้าราชการและประชาชนคงจะมีความหมั่นไส้ท่านเก่งแต่เพียงคนเดียว คนอื่นไม่มีความหมาย เพราะคำว่า "ข้าพเจ้า" ของท่าน ฟังดูแล้วช่างใหญ่โตวางก้าม เก่งกาจ แต่งเพียงผู้เดียว
ในคำพูด "สุนทรพจน์" ของท่านอับราฮัม สินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กล่าวที่สมรภูมิ เกตติสเบิร์ก มีผลทำให้สงครามกลางเมืองยุติลงภายในเวลาไม่ถึง ๔ นาที (โดยประมาณ) หากมีโอกาสได้อ่านสุนทรพจน์ของท่านแล้ว จะเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีจิตวิทยาในการใช้คำ สรรพนาม อย่างมีประสิทธิ์ภาพ คือมีคำว่า เรา และ ของเรา ๑๐ ครั้ง คำว่า ท่าน และพวกท่าน ๗ ครั้งส่วนคำว่า ข้าพเจ้า มีเพียงครั้งเดียวและแสดงออกมาในลักษณะที่ผู้ฟังเห็นว่าไม่ได้สำคัญหรือใหญ่โตอะไรเลย
เวลาเราใช้คำว่า "เรา" "ของเรา" ฟังดูช่างเป็นสำเนียงที่ไพเราะซาบซึ้งและมีเสน่ห์ เพราะมีความหมายว่า ทุกคนอยู่ในความเอาใจใส่จากเราอย่างแน่นแฟ้น ช่างชุ่มชื่นสนิทสนมกลมเกลียวอย่างธรรมชาติ มีผลบันดาลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้พูดเสมอ เช่นเวลาเราพูดกับภรรยาที่บ้านว่า "นี่บ้านฉัน…….รถยนต์ของฉัน…….." ภรรยาของเราจะรู้สึกต่อคำพูดอย่างหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวว่า "นี่บ้านของเรา ……รถยนต์ของเรา" หล่อนย่อมเกิดความรู้สึกอึกอย่างหนึ่งแน่นอน
การรู้จัดใช้คำว่า "เรา พวกเรา ของเรา" จะทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับผู้พูด แล้วทุกคนก็จะต่อสู้เพื่อเรา หรือพวกเรา การรู้จักใช้คำว่า ท่าน เรา พวกเรา ของเรา" อย่างเข้าใจในความหมายทางจิตวิทยา จะได้รับความร่วมมือร่วมใจมากกว่ารู้จักใช้แต่เพียงคำว่า "ข้าพเจ้า ผม หรือ ฉัน" เพียงคำเดียว และหากจำเป็นจะต้องใช้ก็ขอให้เป็นไปในลักษณะที่มีความหายหรือความสำคัญน้อยที่สุด
ข. ถ้อยคำมนต์ขลัง
ถ้อยคำมนต์ขลัง หมายถึงถ้อยคำประเภท "เสมอแนะให้เชื่อตาม" หรือ "ทึกทักให้เชื่อตาม" แบ่งออกเป็น ๒ แบบคือ ๑) แบบฉายสปอร์ตไลท์ไปที่ดอกกุหลาบ ปล่อยให้หนามกุหลาบอยู่ในความมืด
๒) แบบระหว่างบางอย่างกับบางอย่างไม่ใช่ระหว่างบางอย่าง กับไม่มีอะไรสักอย่าง
๑) แบบฉายสปอร์ตไลท์ไปที่ดอกกุหลาบ เช่น "คุณพูดไม่เข้าใจ" เป็นคำพูดธรรมดา แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น "ผมฟังไม่เข้าใจ" จะกลายเป็นถ้อยคำที่มีพลังไปทันที หรือประโยค ที่ว่า "คุณทำงานผิดพลาดมาก" ผู้ฟังย่อมมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวเสียใหม่ว่า "งานสำคัญ ๆ อย่างนี้ใคร ๆ ก็ทำผิดพลาดได้แม้แต่ผมเองก็เคยทำผิดมาก่อน…….." จะเป็นคำกล่าวที่สะกดผู้ฟังได้มากกว่าเป็นต้น
๒) แบบระหว่างบางอย่างกับบางอย่าง แบบนี้เป็นที่ผู้พูดต้องเน้นให้อีกฝ่ายหนึ่งเลือกตกลงใจที่จะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนามที่พูดต้องการไม่ใช่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเลือกคำตอบที่ผิดความมุ่งประสงค์ของตน ตัวอย่าง เช่น "คืนนี้เราไปเที่ยวนอกบ้านกันดีไหม…….." เป็นคำพูดธรรมดา การชวนอาจไม่มีผล แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นว่า "คืนนี้เราจะไปดูหนัง หรือ เต้นรำ กันดี….." เราก็จะได้รับคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ดูหนังก็เต้นรำ ซึ่งความต้องการของผู้พูดก็คือ อะไรก็ได้ ขอให้ได้ออกนอกบ้านก็แล้วกัน
หรือการนัดหมายกัน เช่น
"ผมมีธุระสำคัญจะปรึกษา คุณสมชายจะให้ผมพบได้เมื่อไร ……….." อย่างนี้กว่าจะได้พบยาก หรืออาจจะไม่ได้พบเลยก็ได้
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นถ้อยคำ "มนต์ขลัง" ว่า……….
คุณสมชายครับ ผมมีธุระสำคัญจะปรึกษา จะให้ผมมาพบเวลาก่อนเที่ยงหรือ ตอนบ่ายครับ" ไม่ว่าคุณสมชายจะเลือกเวลาใด ก็สมปรารถนาของเราเสมอคือได้พบแน่ เป็นต้น
ถ้อยคำมนต์ขลัง ส่งกระแสให้เกิดปฏิกิริยาต่ออารมณ์
ถ้อยคำมนต์ขลัง ทำให้กระดูกสันหลังเสียววูบ หัวใจเต้นแรง เราจะไม่มีวันขาดทุนจากการใช้ถ้อยคำมนต์ขลัง
การใช้ถ้อยคำมนต์ขลังที่ดี ควรเกิดจากความจริงใจ ไม่ใช่การเสแสร้ง
ค. การสกดด้วยเสียง
เสียงสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้
เสียงย่อมบอกอารมณ์ผู้พูดได้เสมอ
เสียงสามารถสะกดผู้ฟังได้
ในการพูด ผู้ฟังจะวินิจฉัยถ้อยคำ และนำเสียงมากกว่าลักษณะอาการอื่น ๆ
๙ ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์ของความกระทบกระทั่งบ่ดหมางมีสาเหตุมาจากเสียงเป็นส่วนใหญ่
เสียงแม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับปรุงให้เหมาะสมได้
การรู้จักใช้เสียง นอกจากจะเพิ่มเสน่ห์แก่ผู้พูดแล้ว ยัง ยังช่วยให้คำพูดมีพลังอีกด้วย
คำว่า "ไม่ได้" ของสตรี อาจจะหมายถึง "ได้" ก็ได้สุดแล้วแต่เสียงที่เปล่งออกมา
เวลาเราเรียกสุนัขด้วยเสียงดุดันว่า "มานี่ มันอาจจะวิ่งหนี แต่ถ้าพูดว่า "ออกไป" ด้วยเสียงเรียบ ๆ มันก็จะเดินเข้ามาหาเราก็ได้
คำ "ขอบคุณ" ด้วยน้ำเสียงที่ต่างกัน ย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน
ถ้าตำรวจจราจรกล่าวกับผู้ทำผิดกฎจราจรด้วยเสียงห้วน ๆ ว่า "ขอดูใบอนุญาตซิ………" อาจมีการโต้เถียงหรือท้าทายกันอย่างรุนแรง แต่ถ้ากล่าวเสียใหม่ด้วยเสียงสุภาพว่า "ขอโทษ ท่านคงเผลอทำผิดกฎจราจรไปกระมัง ขอดูใบอนุญาตหน่อยนะครับ ………." แม้ว่าผู้ทำผิดกฎจราจรจะต้องเสียค่าปรับไปบ้าง ก็ไม่มีความรู้สึกเสียดาย เป็นต้น
เสียงประเภทกระแทกแดกดัน ห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำ เป็นเสียงประเภทไม่มีราคาต่างงวด
เสียงอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ สามารถสะกดผู้ฟังได้เสมอ (ยกเว้นผู้ร้ายสำคัญในกรณีพิเศษ)
"สิ่งที่สำคัญกว่าคำพูดที่เราใช้ ก็คือวิธีที่เราใช้ "นี่คือความหมายของการใช้เสียงในการพูดถ้อยคำ ……….ถ่ายทอดความคิด แต่ น้ำเสียง………..ถ่ายทอดอารมณ์
อย่าลืมว่า……..เสียงเป็นเครื่องโฆษณาบุคลิกภาพ
จงทำเสียงให้ประทับใจในเวลาพูด
ง. คำพูดทำให้เกิดภาพ
เหตุใดโทรทัศน์จึงน่าสนใจกว่าวิทยุ ภาพยนต์ดึงดูดใจมากกว่าจานเสียง ทำไมห้องเรียนจึงต้องมีกระดานดำ……….
สุภาษิตจีนกล่าวว่า "ภาพภาพเดียว มีค่ายิ่งกว่าคำพูด ๑,๐๐๐ คำ
เวลาเราพูด ทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพได้ไหม ? เพราะการพูดที่เป็นภาพช่วยให้แนะความคิดของผู้พูดพุ่งเข้าสู่จิตใจของผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว
คำพูดที่เกิดภาพ คือคำพูดที่มีพลัง ยิ่งถ้าทำให้เป็นภาพระบายสีได้ด้วย ก็จะเป็นที่ประทับใจได้ทากขึ้นทีเดียว
คำพูดที่ทำให้เกิดภาพ มักจะเต็มไปด้วย "ตัวอย่างเช่น ………" เสมอ
ถ้ามีใครสักคนบอกเราว่า ที่ตลาดบางสำภูมีร้านขายหมูสะเต๊ะ อยู่ร้านหนึ่ง อร่อยมากเราจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะเราต่างก็เคยกินหมู่สะเต๊ะกันมานากแล้ว รสชาติก็เหมือน ๆ กัน
แต่ถ้าพูดให้เกิดภาพว่า "ที่ตลาดบางลำภู มีร้านขายหมูสะเต๊ะอยู่ร้านหนึ่ง อร่อยมากเวลาปิ้งมันจะหยดลงถูกถ่านเสียงดัง ฉ่า ….ฉ่า…….." ผู้ฟังจะรู้สึกน้ำลายสอและอยากกินขึ้นมาทันทีทันใด
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์รัฐบุรุษหนึ่งของไทย เป็นนักการทหารที่มีศิลปในการใช้ถ้อยคำที่มีพลังแบบ พูดให้เกิดภาพได้ดีคนหนึ่ง การปราศรัยของท่านไม่ว่าครั้งใด มักจะเป็นที่ประทับใจผู้ฟังเสมอ ตัวอย่าง เช่น………
คำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔ เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ มีข้อความว่า………
"การแทรกแซงตัวของคอมมิวนิสต์มีอยู่ทุกกรแส ในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อและแผนการที่ฉลาดหลายอย่าง ทุ่มเทเงินทองเป็นจำนวนมหาศาล ดำเนินการทั้งทางลับและเปิกเผย ทำความพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความเสื่อมโทรม ระส่ำระสายในประเทศ ขุดโค่นราชบัลลังก์ ล้มล้างพระพุทธศาสนา และทำลายสถาบันทุกอย่างที่ชาติไทยได้ผดุงรักษามาด้วยความเสียสละอย่างยิ่งยวด……เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เป็นแผลร้ายพิษแรง สำหรับประเทศชาติ ไม่มีทางบำบัดด้วยวิธีปลีกย่อยแต่ละเรื่อง แต่ละรายไม่สามารถจะแก้ไข้ด้วยวิถีทางเปลี่ยนรัฐบาลเปลี่ยนตัวตนหรือเพียงแต่แก้ระบบบางอย่าง ซึ่งเปรียบประดุจโรคร้ายที่ ไม่มีทางรักษาด้วยยากันยาทา จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดถึงขั้นศัลยกรรม และเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคร้ายดังกล่าว………"
เกือบจะทุกถ้อยคำในประโยคการพูด ผู้ฟังมองเห้นภาพชัดเจนและเห็นจริงเห็นจังไปด้วยล้วนเป็นคำพูดที่มีพลังและปลุกเร้าให้ตื่นตัว ลุกขึ้นต่อสู้โดยร่วมมือกับรัฐบาล
หากสนใจการพูดของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเห็นว่า ไม่ว่าในการกล่าวคำปราศรัย การแสดงสุนทรพจน์ หรือการแถลงผลงาน ให้ท่านลองไปอ่านดู ก็จะเห็นด้วยกับคำพูดของท่านทุกครั้ง
จ. การกระตุ้นด้วยคำถาม
การกระตุ้นด้วยคำถามเป็นศิลปอย่างหนึ่งในการเพิ่มพลังคำพูด
การกระตุ้นด้วยคำถามช่วยให้ความคิดของผู้พูดพุ่งเข้าสู่จิตใจผุ้ฟังได้อยางมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
การกระตุ้นด้วยคำถาม ขจัดปฏิกิริยา หรือความคิดที่ไม่เห็นด้วยของผู้ฟังได้อย่างชัด
การกระตุ้นด้วยคำถามช่วยประหยัดถ้อยคำและเวลาในการพุด
การกระตุ้นด้วยคำถาม ทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกเหมือนว่า เขากำลังพูดอยู่กับตัวของเขาเอง และกำลังคิดตอบปัญหาของตัวเอง ถึงแม้ผู้ฟังจะนึกได้ว่าเป็นการพูดของผู้พูด ก็มีความรู้สึกเหมือนว่า เขากำลังได้รับการขอร้องมากกว่าการบังคับ
แพตทริค เฮนรี สมาชิกรัฐสภาเวอร์บิเนียร์ (เมืองขึ้นของอังกฤษสมัยนั้น) เขาต่อสู้เพื่อให้รับเวอร์ยิเนียร์มีอิสรภาพ ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภา หากการกล่าวของเขาไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกรัฐสภา เขาจะต้องถูกแขวนคคอเพราะเป็นกบถต่ออังกฤษแต่กลับประสบความสำเร็จด้วยการพูดที่เต็มไปด้วยคำถามตลอดการพูด เขากล่าวว่า………. "พี่น้องของเรา ต่างอยู่ในสนามรบทำไม เราจึงอยู่ที่นี่กันอย่างงอมืองอตีน…..เราจะนอนคอยกันอย่างเกียจค้าน เช่นนี้หรือ?……..ชีวิตต้องเป็นที่รักหวงแหน มีเสรีภาพเป็นที่ชื่นใจไหม?…….เมื่ออยู่ในฐานะจองจำและเป็นทาสอย่างนี้ ?……. จองจำหรือเป็นทาส หรือจะสู้อังกฤษดี?………..ในที่สุดสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับเขารัฐเวอร์ยิเนียร์จึงได้รับการปล่อยให้มีอิสรภาพ
แม้ในการชักชวนให้มีการเดินขบวน ก็มีเคล็ดลับหรือวิธีการแห่งประเด็นนี้ด้วย นักเดินขบวนทั้งหลายจึงประสบความสำเร็จเสมอ หากไม่สามารถจะพูดให้คนอื่นเห็นด้วยกับแนวความคิดของเราด้วยวิธีพูดธรรมดา แล้ว ให้ลองใช้วิธีกระตุ้น ปลุกเร้าด้วยคำถามดูบ้าง อาจจะพบกับความง่ายดายอย่างไม่คาดฝันก็ได้
ฉ. คำพูดแบบเพื่อนเก่า
วิลรอเยอร์ กล่าวว่า "ผมรักถ้อยคำ แต่ผมไม่ชอบถ้อยคำแปลก ๆ เพราะเราไม่เข้าใจมันและมันไม่เข้าใจเรา………ผมชอบถ้อยคำแบบเพื่อนเก่าที่พอเห็นหน้าแพล้บเดียวก็จำได้……….."
เวลาพูด จงใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ธรรมดา ๆ แบบเพื่อนเก่า พอได้ยินปุ๊บก็เข้าใจปั๊บบางคนดัดใช้คำยาก ๆ สูง ๆ เพื่อต้องการจะอวดภูมิว่า ตัวเองเป็นผู้มีภูมิปัญญาสูงมากกว่าที่จะพูดเพื่อความเข้าใจคนพวกนี้แปลก ยิ่งพูดให้คนเข้าใจยากได้เท่าไดรู้สึกว่า เป็นความภาคภูมิใจยิ่งนัก หารู้ไม่ว่า นั่นเขากำลังพูดอยู่กับป่าช้า ต่อให้เขาพูดไปจนกระทั่งขากรรไกรหัก หรือจนกว่าแก้วหูของผู้ฟังแตก ก็หาได้ทำให้การพูดนั้นบรรลุความสำเร็จได้ไม่ รังแต่จะสร้างความรำคาญ อึดอัด แก่ผู้ฟังมากกว่า
คำว่า "ฉันรักเธอ" ไม่ว่าจะไปพูดกับใครที่ไหน พอได้ยินปุ๊บก็เข้าใจปั๊บเพราะเป็นคำพุดแบบเพื่อนเก่าที่คุ้นหน้ากัน พอเห็นหน้าแปล๊บเดียวก็จำได้
แต่ถ้าดัดพูดว่า "เธอเขย่าธรรมชาติอารมณ์เสน่ห์ของฉันให้หวั่นไหว …….." ฟังเข้าใจก็ยากหรือไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย สำหรับผู้ฟังที่อยู่ห่างไกลกลิ่นไอแห่งความเจริญขั้นนี้…………
การใช้ถ้อยคำสูงๆ ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจ ชนะใจ หรือจูงใจผู้ฟังได้เลยถ้อยคำง่าย ๆ ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันต่างหากที่สามารถมองเห็นภาพได้ถนัดชัดเจนกว่าและเข้าใจได้ง่ายกว่าเป็นไหน ๆ
นักวิชาการบางคนเวลาพูด ชอบใช้ศัพท์ทางวิชาการพร่ำเพรื่อไม่เลือกว่าที่ใดควรหรือไม่ควรพูด ผู้ฟังจำนวนมากเบื่อหน่าย เอือมระอาต่อการฟัง เช่นนี้มามากต่อมาก อย่าง เช่น……
"การบรรยายวันนี้ เป็นการบรรยายเรื่องการอนุรักษ์ป่า บริรักษกรได้เผยผึ่งถึงพิชานอันเป็นอนันตริภาพให้เห็นถึงหิตาตุหิตประโยชน์………." เป็นต้น ซึ่งในการใช้ถ้อยคำในการพุดอย่างนี้จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ และมีศรัทธาที่จะฟังเพราะจะต้องมาแปลไทยเป็นไทยกันอีกขั้นหนึ่งไป

๓ สรุป
ในบรรดาคำพูด วันละ ๓๐,๐๐๐ คำ ต่อวันของเรา เราแน่ใจหรือยังว่าเป็นคำพูดประเภท "พูดแต่ดี" ไม่ใช่ "ดีแต่พูด" คำพูดประเภท "พูดแต่ดี" ล้วนเป็นคำพูดที่มีพลัง
ก่อนที่จะพูดจงคิดเสียก่อนว่า เป็นยาพิษหรือน้ำผึ้ง คำพูดหากจะเปรียบเสมือนแสงแดดถ้าเราสามารถทำให้แสงมารวมกันได้มากเท่าใด ก็ยิ่งจะมีพลังเผาไหม้มากขึ้นเพียงนั้น
"ศิลปทั้งผอง ต้องฝึกหัด ตามบรรทัดฐานเห็นเป็นปฐม
วาทศิลป์เลิศล้ำคำนิยม คมเหมือนคมอาวุธใดในปถพี
ครูอาจารย์การพูดพิสูจน์แล้ว อันดวงแก้วแจ่มจำรัสรัศมี
ถึงแรกมัวสลัวค่าเหมือนราคี เช็ดขัดดีขึ้นมาจึงน่ายล"

*********************