วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วัดช้างให้

 
Posted by Picasa

ข้างหลังภาพ


.. ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก .... ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่นและตายที่นั่น ส่วนความรักของอีกคนหนึ่ง กำลังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ ..
นพพร และ หม่อมราชวงศ์กีรติ พบกันครั้งแรก ที่สถานีรถไฟโตเกียว นพพรอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ริคเคียว ส่วนหม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงวัย 35 มาฮันนีมูน กับ พระยาอธิการบดี สามีที่ อายุคราวพ่อ ท่านเจ้าคุณเป็น เพื่อนสนิทกับ พ่อของนพพร จึงขอร้องให้นพพร พาหม่อมราชวงศ์กีรติ เที่ยวญี่ปุ่นเพราะตัวท่าน เองแก่เกินกว่า จะไปไหนต่อไหนได้ หลายแห่ง แต่ก็ยังอยากให้หม่อมราชวงศ์กีรติสนุกกับการอยู่ญี่ปุ่น และนั่นเป็นโอกาสให้นพพร เด็กหนุ่มที่ไม่เคย รู้จักความรักมาก่อน ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้หญิงที่สวย สง่า กิริยาวาจาแช่มช้อยเป็นผู้ดี แม้เธอจะสูงวัยกว่า แต่ยิ่งใกล้ชิด นพพรก็ยิ่งหลงรักเทอดทูน หม่อมราชวงศ์กีรติ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเธอ แต่งงานแล้ว นพพรเฝ้าถามหม่อมราชวงศ์กีรติว่าทำไมเธอจึงแต่งงานกับ ชายวัยพ่อ ทั้ง ๆ ที่เธอทั้งสวย สง่างามมาก ฉลาด และฐานะเดิมก็ดีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งไม่ได้ถูกใครบังคับและไม่ได้รักเจ้าคุณด้วย ทุกครั้งที่นพพรถาม หม่อมราชวงศ์กีรติเลี่ยงที่จะตอบ จนวันหนึ่ง เขาพาเธอไปเที่ยว มิตาเกะ หม่อมราชวงศ์กีรติที่ตามปกติจะวางตัวสง่างาม กลับกลายเป็นสาวน้อย ผู้ร่าเริงท่ามกลาง แมกไม้ และสาย และความหลัง ที่เป็นความลับ ของหม่อมราชวงศ์กีรติจึงถูกเปิดเผย และทุกครั้งที่นพพร ถามว่าหม่อมราชวงศ์กีรติรักเขาไหม คุณหญิงกีรติไม่เคยตอบตรงคำถามเลย ส่วนนพพรยืนยันว่า “ผมจะรักคุณหญิง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย” 6 ปีล่วงไป นพพรสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็กลับสยาม ในขณะนี้หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เขาทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่นพพรรู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น เวลา 6 ปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของนพพรเด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มญี่ปุ่นที่ไม่ใคร่จะคิดถึงใครจะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น ครั้นแล้วนพพรก็แต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน นพพรได้ทราบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติได้เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค และอยากพบเขา จนแพทย์และพยาบาลรู้สึกว่าควรจะมาตามเขาให้ไปพบ เพื่อให้คนไข้ได้สงบจิตใจในวาระสุดท้าย นพพรก็ไปเยี่ยมและหม่อมราชวงศ์กีรติก็ให้ภาพเขียนที่ระลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดความรักแก่เขาทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพวาดโดยฝีมือของเธอเอง พร้อมด้วยคำตัดพ้อบางประโยคเป็นที่สะกิดใจนพพรให้ระลึกถึงความหลังและหวนคิดเสียดายอาลัยคนรักคนแรกของตน ครั้นแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติสตรีผู้อาภัพในเรื่องรักก็ถึงแก่กรรมใน 7 วันต่อมา

หลักการสงคราม 10 ประการ (PRINCIPLES OF WAR)


1.หลักความมุ่งหมาย (OBJECTIVE) ต้องมุ่งไปสู่ที่หมายที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน
2.หลักการรวมกำลัง (MASS) รวมอำนาจกำลังรบ ณ ตำบลและเวลาที่แตกหัก
3.หลักการดำเนินกลยุทธ (MANEUVER) ใช้อำนาจกำลังรบอย่างอ่อนตัวเพื่อให้ได้มาและดำรงไว้ซึ่งความได้เปรียบ
4.หลักการระวังป้องกัน และรปภ. (SECURITY) ไม่ยอมให้ข้าศึกได้เปรียบโดยที่เราไม่ได้คาดคิด
5.หลักความง่าย (SIMPLICITY) แผน/คำสั่ง ที่ชัดเจนไม่ยุงยากง่ายต่อการเข้าใจ
6.หลักการรุก (OFFFENSIVE) ชิงความริเริ่ม ,ครองความริเริ่ม ,ขยายผลความริเริ่ม
7.หลักการออมกำลัง (EXCONOMY OF FORCE) ใช้กำลังแต่เพียงน้อยในด้านการปฏิบัติรอง
8.หลักเอกภาพในการบังคับบัญชา (UNITY OF COMMAND) มีเอกภาพในการปฏิบัติภายใต้ผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบเพียงผู้เดียว
9.หลักการจู่โจม (SURPRISE) โจมตี ณ เวลาและตำบลที่ ในรูปแบบที่ข้าศึกมีการเตรียมการน้อยที่สุด
10.หลักการต่อสู้เบ็ดเสร็จ (TOTAL DEFENSE) ผนึกกำลังรบทังสิ้น เพื่อชดเชยความเสียเปรียบในด้านอำนาจกำลังรบ

ชื่อเสียงเกียรติยศ

การได้มาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศอาจมีได้หลายสาเหตุ บางครั้งมีพื้นฐานมาจากการเสียสละ เมตตาปรานี ซึ่งเมื่อได้รับการเปิดเผยออกไปย่อมได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คน แต่หากเป็นการได้มาด้วยการแก่งแย่งที่ผิดมโนธรรม จอมปลอม ซับซ้อนพิสดาร เมื่อได้รับการเปิดเผยออกไปย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย

ความขัดแย้ง

มนุษย์โลกย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องราวนี้ได้ ทุกซอกทุกมุมของโลกอาจเกิดเรื่องราวเช่นนี้ขึ้นได้ทุกเมื่อ จะอย่างไรเรื่องราวเช่นนี้ความจริงสามารถหยุดยั้งได้ เพียงแต่ว่ามนุษย์ต้องรู้จักการเสียสละ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้แต่น้อยคนจะยินยอม ยินยอมหักห้ามความโกรธของตนเอง อดทนต่อความผิดพลาดของผู้อื่น ลืมเลือนสิ่งที่ผู้อื่นทำร้ายตน หันมาปลูกฝังดวงใจแห่งความรักความเมตตาต่อผู้อื่น

กระบี่อยู่ที่ใจ

กระบี่ยามสงบคล้ายดั่งขุนเขาบรรพต ยามเคลื่อนไหวพอลงมือก็จู่โจม ถูกเป้าหมาย มีเจตนาที่จุดชีวิตของฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดทันที แฝงไปด้วยรังสีการฆ่าฟันอันเกลี่ยวกราด ดุร้าย
ในใจมีกระบี่คือสุดยอดของหลักวิชาการต่อสู้ ในมือแม้กุมอาวุธคมกล้าที่สามารถฟันเหล็กดุจฟันหยวก แต่ในใจหากปราศจากกระบี่อาวุธคมกล้านั้นก็เป็นเพียงเศษเหล็กท่อนหนึ่ง




กิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ

ความเชื่อมั่น

ชัยชนะที่แท้จริงมิได้ใช้อาวุธไปช่วงชิงมานั่นต้องใช้ความเชื่อมั่นของท่าน ไม่ว่าเป็นอาวุธน่ากลัวปานใด ยังไม่อาจทัดเทียมความเชื่อมั่นของมนุษย์ชาติได้ ความเชื่อมั่นสามารถแสดงออกโดยรอยยิ้ม มีแต่รอยยิ้มจึงสามารถพิชิตจิตใจผู้คนได้อย่างแท้จริง
ความเชื่อมั่นแม้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ก็เป็นเคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งที่พิสูจน์ผลแพ้ชนะ ตัดสินความเป็นความตาย บางครั้งยังล้ำค่ากว่ากระบวนท่าวิชาฝีมือ เนื่องเพราะกระบวนท่าวิชาฝีมือแม้พอพบอาจารย์ยังสามารถถ่ายทอดสั่งสอน แต่ปฏิกิริยาความเชื่อมั่น และการตัดสินใจในยามต่อสู้ย่อมไม่มีผู้ใดถ่ายทอดให้ได้

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สาระบางอย่างเกี่ยวกับมุสลิม

มุสลิม คือ คำที่ใช้เรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีสถานภาพเป็นทั้งผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม โดยมุสลิมต้องปฏิบัติตนอยู่ในหลักคำสอนที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑ หลักศรัทธา มุสลิมต้องมีความศรัทธา ๖ ประการ คือ ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว คือ อัลลอฮ์ ในบรรดามลาอีกะฮ์ ในบรรดาศาสนทูต ในคัมภีร์ที่สำคัญ ในวันแห่งการพิพากษาหรือวันสิ้นโลก และในกฎกำหนดสภาวการณ์จากพระเจ้า
๒ หลักปฏิบัติ ๕ ประการ คือ การปฏิบัติตามคำปฏิญาณว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าองค์เดียว และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตจากพระองค์ การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอดปี ละ ๑ เดือน ในเดือนรอมฎอน การบริจาคซะกาตแก่คน ๘ ประเภท และการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ สำหรับผู้ที่มีความพร้อม
๓ หลักความยำเกรงโดยมีความตระหนักว่าจริยธรรม คุณธรรม และการปฏิบัติทุกอย่างกระทำต่อหน้าพระเจ้าและพระเจ้าทรงเห็น ทรงรู้ในพฤติกรรมนั้นอยู่ทุกขณะ

ละหมาด เป็นสำเนียงไทยๆ ที่เพี้ยนมาจากภาษาอุรดูว่า นมาซ ภาษาอาหรับเรียกว่า อัศเศาะลาศ์ ส่วนภาษามลายูใช้คำว่า ซัมมะฮ์ยัง หรือ สะมะยัง
ละหมาดวันศุกร์ คือ การละหมาดร่วมกันที่มัสยิดหรือที่ใดที่หนึ่ง ในช่วงกลางวันของวันศุกร์ โดยมีการกล่าวคุฎบะฮ์ หรือ ธรรมเทศนาก่อน ละหมาดนี้บังคับเฉพาะผู้ชาย
ละหมาดวันอีด ในอิสลามมีวันสำคัญซึ่งเป็นวันแห่งความรื่นเริงอยู่ ๒ วัน คือ วันอีดิลฟิตร คือ วันเฉลิมฉลองหลังจากเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และวันอีดิลอัฎฮา
คือ วันเฉลิมฉลองเนื่องในพิธีฮัจญ์ วันทั้งสองเรียกสั้นๆ ว่า “วันอีด” มุสลิมภาคกลางเรียกว่า
“วันออกบวช” และ “วันออกฮัจญี” ภาษามลายูใช้คำว่า “ฮารีรายอปอซอ” และ “ฮารีรายอฮัจญ์” ในวันดังกล่าวมุสลิมจะไปละหมาดอีดรวมกันที่มัสยิด และมีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงใกล้ชิด และขออภัยกัน ให้พรแก่กัน
มัสยิด คือ ศาสนสถานที่มุสลิมใช้เป็นที่ละหมาด โดยถือว่าเป็นบ้านของพระเจ้า มุสลิมเมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใดจะสร้างมัสยิดไว้เป็นศูนย์กลางของชุมชน มัสยิดนอกจากจะมีภาระหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาแล้ว ยังมีภาระหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองในประเทศไทย มัสยิดที่จดทะเบียนแล้ว มีจำนวน ๓,๕๐๗ มัสยิด ในจำนวนนี้เป็นมัสยิดที่อยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง ๑,๖๘๗ มัสยิด

ตาดีกา คือ การจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น ให้แก่เด็กมุสลิมระดับประถมศึกษาในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือในตอนเย็นของวันธรรมดา เพื่อเตรียมให้เด็กเติบโตเป็นมุสลิมที่ดี มีฐานความรู้ทางศาสนา พร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อใน ร.ร.ปอเนาะ มักใช้สถานที่ของมัสยิดซึ่งจัดการบริหารโดยชุมชน ในปัจจุบันเรียกว่า “ศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด” (ตาดีกา) ซึ่งจัดอยู่ในการศึกษานอกระบบ

ปอเนาะ คือ บ้านหลังเล็กๆ ลักษณะเป็นกระท่อม ปอเนาะจึงเป็นคำที่เรียกสถานศึกษาของชาวมุสลิมในคาบสมุทรมลายู ซึ่งผู้เรียนจะประจำอยู่ที่กระท่อมที่รายล้อมสถานศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปอเนาะเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ปอเนาะส่วนหนึ่งได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม สอนทั้งศาสนาและสายสามัญ ส่วนปอเนาะดั้งเดิมได้จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ เรียกว่าสถาบันศึกษาปอเนาะ สอนศาสนาอิสลามจำนวน ๑๖ รายวิชา จัดเป็นการศึกษานอกระบบ

โต๊ะครู คือ คำเรียกครูสอนศาสนาในสถาบันศึกษาปอเนาะ มาจากคำว่า “ตูวันกูรู” ซึ่งแปลว่า “ท่านครู” ในภาษามาลายูเรียกว่า “โต๊ะกูรู”

บาบอ คือ คำเรียกเจ้าของสถาบันศึกษาปอเนาะ หรือเป็นคำเรียกพ่อ เรียกโต๊ะครู เรียกผู้อาวุโส ที่ประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ญิฮาด ( جهاد Jihad)


ญิฮาด ( جهاد Jihad) เป็นคำหนึ่งในภาษาอาหรับที่ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนมากที่สุด จนทำให้เกิดเป็นมายาคติที่ว่า "อิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย" มีมุสลิมบางคนได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสมจากกรอบแนวคิดเรื่อง ญิฮาด เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมืองของตน ญิฮาด มาจากคำกริยา ญะฮะดะ ในภาษาอาหรับหมายถึง ความพยายาม ในทางศาสนาเป็น ความพยายามที่จะเพิ่มศรัทธาในพระเจ้ารวมทั้งการทำความดี การเผยแพร่ศาสนา

ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่มิใช่มุสลิมจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ ญิฮาด แล้วตีความหมายแบบผิดๆ ซึ่งทำให้มุสลิมและอิสลามเกิดความเสื่่อมเสีย หรือทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ
ผู้ทำการญิฮาด เรียกว่ามุญาฮิด พหูพจน์เรียกว่ามุญาฮิดีนญิฮาดในอัลกุรอาน
ความหมายของญิฮาดในอัลกุรอานมีหลายความหมาย เช่น
การดิ้นรนของจิตวิญาณ เช่นในอัลกุรอาน (29:69) และบรรดาผู้ที่ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา
ความพยายามในการควบคุมอารมณ์ของตน และการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น "ผู้ใดต่อสู้ดิ้นรน แท้จริงเขาย่อมต่อสู้ดิ้นรนเพื่อตัวเอง
โดยสรุปในอัลกุรอานให้มุสลิมทำญิฮาดเพื่อความโปรดปรานและได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า มิใช่การต่อสู้กับผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยอาวุธหรือความรุนแรง
ญิฮาดในหะดิษ
ในหะดิษซึ่งเป็นการรวบรวมคำพูด โอวาทหรือการปฏิบัติตนของท่านมุฮัมมัด ได้ให้ความหมายของญิฮาดในการต่อสู้เพื่อทำให้จิตใจของตนบริสุทธิ์ เช่นกล่าวว่า การรบในสมรภูมิเพื่อศาสนาเป็นญิฮาดเล็ก การต่อสู้กับความอ่อนแอของตนคือญิฮาดใหญ่ และญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การพูดความจริงต่อหน้าผู้กดขี่
ญิฮาดในคำอธิบายของนักวิชาการมุสลิม
นักวิชาการมุสลิมแบ่งญิฮาดเป็น 4 ประเภทคือ
ญิฮาดโดยหัวใจ คือการต่อสู้กับกิเลสตัณหาในตัวเอง
ญิฮาดโดยลิ้น คือการเผยแพร่ศาสนาโดยใช้วาจา
ญิฮาดโดยมือ คือการสนับสนุนความถูกต้องโดยใช้กำลังร่างกาย
ญิฮาดโดยอาวุธ คือการตอบโต้การกดขี่ข่มเหงด้วยกำลังอาวุธเมื่อไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่น

ในทางศาสนาอิสลามแล้ว คำนี้ไม่ได้หมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ดังที่ผู้มิใช่มุสลิมเข้าใจ และเป็นศัพท์ทางศาสนาคำหนึ่งที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยครั้ง คำว่าญิฮาดนี้มีปรากฏทั้งในอัลกุรอ่านแลหะดิษต่างๆ
การทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลาย เพื่อเทิดทูนคำสั่งแห่งอัลลอฮฺ
ให้อิสลามสถิตอยู่ในโลกอย่างมั่นคง ซึ่งจะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น วิชาความรู้ การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใดที่ใช้ความพยายามในด้านใดก็ตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักธรรมคำสอนของอิสลามดำรงอยู่ในสังคม ก็ถือได้ว่าได้ทำการญิฮาดแล้วทั้งสิ้น ผู้ทำการญิฮาด เรียกว่า มุญาฮิด โดยนัยนี้นักการเมืองหากทำงานการเมือง โดยวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นมุญาฮิดทางการเมือง นักธุรกิจที่ทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ก็เป็นมุญาฮิด ในทางเศรษฐกิจดังนี้เป็นต้น
ญิฮาด หรือการก่อการร้าย
โดย อ.อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ) นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา Shukur2004@Chaiyo.com Fax 0-7443-1354 มติชนรายวัน วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9890

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมหมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำ คือ ญิฮาดและการก่อการร้าย ที่จำเป็นสำหรับผู้รู้หรือนักวิชาการมุสลิม จะต้องให้ความกระจ่างต่อสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมมุสลิม เพราะมีความเข้าใจผิดกันมากและได้ถูกนำไปใช้กันอย่างผิดๆ

อาจจะมีผู้ถามว่า ทำไมศาสนาอิสลามจึงมีการกำหนดการทำสงคราม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าอิสลามมีความเข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหรืออนาคต ว่าเป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะปราศจากสงคราม ดังนั้น ในทางที่ดี เพื่อความยุติธรรม และความเสียหายอาจจะขยายเพิ่มขึ้น ดังนั้น อิสลามจึงกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การทำสงคราม

แต่เป็นที่น่าเสียใจ มีมุสลิมบางคน บางกลุ่ม ได้นำเอาแนวความคิดการญิฮาดไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง หรือต้องการแก้แค้นเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม

มีมุสลิมหลายคนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างผิดๆ และมีผู้ที่มิใช่มุสลิม โดยเฉพาะสื่อมวลชนหลายแขนงอธิบายความหมายของคำว่าญิฮาดไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถแยกแยะระหว่างญิฮาดและการก่อการร้าย

ความหมายของ "ญิฮาด"

- ในด้านภาษา "ญิฮาด" เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า "ญะฮฺดุน" ซึ่งหมายถึง "การทำอย่างยากลำบาก, การปฏิบัติย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า" หรือมาจากคำว่า "ญุฮฺดุน" ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจัง

- ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการใช้ความพยายามเพื่อบรรลุถึงความดี และการป้องกันความชั่ว

ญิฮาดสามารถปฏิบัติได้ในหลายๆ ด้าน โดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือ โรคภัยไข้เจ็บ และการต่อสู้ต่อพลังความชั่วในโลกทั้งหมด ดังนั้น ญิฮาดจึงมีหลายประเภท แต่ผู้เขียนขอกล่าวถึงญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก

กล่าวคือ ญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม

จะเรียกว่าญิฮาดชนิดนี้ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม

2.ถูกลิดรอนสิทธิด้านศาสนา

3.จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน

4.อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม เช่น ต่อสู้ต่อบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่อย่าเริ่มการเป็นศัตรูก่อน แท้จริง "อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน"(ดูกุรอาน 2:190)ไม่ทำลายศพ ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีสัญญาสงบศึกไม่ตัด หรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล ไม่ฆ่าสัตว์ เช่น แกะ วัว หรืออูฐ นอกจากเพื่อเป็นอาหาร ให้ความเมตตาและการเอาใจใส่หรือบริการทางการแพทย์ และการพยาบาลต่อเชลยสงคราม เพราะอัลลอฮฺดำรัสความว่า

"แท้จริง บรรดาผู้ทรงคุณธรรมนั้นจะได้ดื่มน้ำที่ผสมด้วยการบูรหอมจากแก้วน้ำ เป็นตาน้ำพุที่บ่าวของอัลลอฮฺ จะได้ดื่มโดยทำให้มันพุ่งออกมาอย่างล้นเหลือ เพราะพวกเขาปฏิบัติตามคำสัตย์สาบาน และกลัววันที่ความชั่วร้ายของมันแพร่กระจายออกไป และพวกเขาให้อาหารแก่คนขัดสน เด็กกำพร้าและเชลย เพราะความรักต่อพระองค์ พวกเขากล่าวว่า "เราให้แก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้น และเรามิได้หวังการตอบแทนหรือการขอบคุณจากท่านแต่ประการใด" (กุรอาน 76:5-9)

และท่านนบีมุฮัมมัดได้สั่งบรรดาสาวกของท่านให้ทำดีต่อเชลย ครั้งหนึ่งท่านได้สั่งสาวกของท่านโดยกล่าวว่า "ท่านจะต้องปฏิบัติต่อเชลยด้วยดี"

เพราะฉะนั้น สงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศ หากไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือการก่อการร้าย(ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ)

ญิฮาดจึงมิใช่การก่อการร้าย อิสลามไม่อนุมัติการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะโดยการรุกรานหรือโดยวิธีการพลีชีพ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม

อิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่ และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด

การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหาย และความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆ ไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุน เพราะอัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า : "เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า "จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน" พวกเขากล่าวว่า "เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆ ต่างหาก" แท้จริงพวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่"(กุรอาน 2:11-12)

อิสลามต้องการที่จะสร้างระเบียบโลกที่มนุษย์ทั้งหมด ทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม ในความสันติและความสมานฉันท์

อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม และอิสลามบอกให้มุสลิมถึงให้มิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

มีโองการอัลกุรอ่านมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่น อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า "อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาแท้จริง อัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (60:8)

จากโองการข้างต้นพบว่า : อัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ใช้ผู้ศรัทธาทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรไมตรีให้ความช่วยเหลือต่อกัน และให้ความยุติธรรมซึ่งกันและกัน ตราบใดที่เขาเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิและขับไล่ผู้ต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์

อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า : และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์(อัลลอฮฺ) แก่คนยากจน กำพร้า และเชลยศึก(76:8)

อิหม่าน al-Zuhaili กล่าวว่า "ผู้เปี่ยมล้นด้วยความศรัทธานั้น เขาจะให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือต่างศาสนิก"

ในสังคมสมัยใหม่ที่โลกกลายเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งผู้ที่มิใช่มุสลิมอาศัยอยู่กับมุสลิมในประเทศมุสลิม และมุสลิมอาศัยอยู่กับผู้ที่มิใช่มุสลิมในประเทศที่ผู้มิใช่มุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เรามีหน้าที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ดี และถูกต้องในหมู่พวกเรากันเอง จะต้องทำงานเพื่อสันติภาพ และความยุติธรรมสำหรับประชาชนทั้งหมด และร่วมมือกันในเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อที่จะยับยั้งลัทธิการก่อการร้าย การรุกราน และการใช้ความรุนแรงต่อคนบริสุทธิ์ ผู้เขียนคิดว่านี่ต่างหากคือการญิฮาดของเราในปัจจุบัน

สรุป : จะเรียกญิฮาดได้ต้องมีเงื่อนไขที่สมบูรณ์ เจตนาดี และวิธีการถูกต้อง

หากมีเพียงเงื่อนไขสมบูรณ์ เจตนาดีแต่ไม่คำนึงวิธีการจะไม่เรียกว่าญิฮาด แต่จะกลับกลายเป็นการก่อการร้ายทันที เพราะการก่อการร้ายคือก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก ถึงจะอ้างว่าทำไปเอาความยุติธรรมกลับคืน

หมายเหตุเรียบเรียงจาก

1.Siyid Sabig. 1993. Fig Sunnah. Cairo.Dar al-Fath.3/82-83

2.al-Zuhaili,wahbah.1991 al-tafsir al-Munir. Damascus:Dar al-Fikr.28/135

3.http://www.muslimthai.com/contentfront.php?option=content&id=575

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จังหวัดชายแดนภาคใต้


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยระดมทรัพยากรทั้งบุคลากร และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณต่างๆเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถควบคุมสถานการณ์ และยุติปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การสร้างสันติสุขกลับมาสู่ผืนแผ่นดินแห่งนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับกันว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อนโดยเฉพาะในระบบสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันหลายมิติ ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องมีความละเอียดประณีต การใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาคงไม่สามารถนำความสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมั่นคงถาวร
จากผลการปฏิบัติในรอบปีที่ผ่านมาแม้จะถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่หลายฝ่ายพึงพอใจ ทำให้เกิดความคาดหวังจากประชาชนทั่วประเทศว่าจะสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปสู่ทิศทางของการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้ แต่ยังคงมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางประการที่เราต้องเพ่งเล็ง และให้ความสำคัญ อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ได้แก่
ประการที่ ๑ การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ต้องผนึกกำลังโดยไม่แบ่งแยกเป็นพวก เป็นฝ่าย ร่วมกันแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยถือบริบทของความสมานฉันท์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม และประเทศชาติ
ประการที่ ๒ การปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ต้องตระหนักให้จงดีว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี มีความเข้าอกเข้าใจประชาชน เพื่อมิให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งกันและกัน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมองประชาชนด้วยสายตาหวาดระแวง ขาดสายใยแห่งความผูกพัน และไมตรีจิต ก็คงหวังไม่ได้ที่จะให้ประชาชนคืนความจริงใจกลับมาสู่ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามความสงบสุขจะยิ่งหนีห่างออกไปอีก เป็นเท่าทวีคูณ สิ่งเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชา ต้องตระหนักรู้ และใส่ใจกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา โดยปรับทัศนคติให้เปิดกว้าง ลดความหวาดระแวง มอบความไว้ใจซึ่งกันและกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ประการที่ ๓ การดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบปีที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการตาม แผนงาน/โครงการ ตามกลยุทธ์ในกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคง และด้านการพัฒนา แม้ว่าแผนงานโครงการดังกล่าว จะผ่านการกลั่นกรองตามกระบวนการ จนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้ก็ตามแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักก็คือการประเมินผลการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อเสริมจุดด้อย ชูจุดเด่น ให้บังเกิดแรงขับเคลื่อนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พัฒนาดียิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละห้วงเวลา มิฉะนั้นจะเป็นเพียงการย้ำเท้าอยู่กับที่
ประการที่ ๔ ประชาชนคือศูนย์กลางแห่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เป็นกลไกหลัก ตัวจักรสำคัญยิ่ง ดังนั้นการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม หรือมีส่วนรวมในทุกกระบวนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มวางแผน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จะทำให้เห็นถึงความจริงใจของภาครัฐ และ เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาชน อันจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างบริบูรณ์
ประการที่ ๕ ส่วนราชการ เอกชน รวมทั้งประชาชนคนไทย ที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตระหนักว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศลำดับแรก จึงต้องมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่ของตนเองให้มากที่สุด เช่น คัดเลือกเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประณีต รอบคอบ แก้ไขช่องว่างของกฎระเบียบข้อบังคับ ให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ การจัดกิจกรรมสนับสนุน ช่วยเหลือ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ล้วนส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังร่วมมือแก้ไขปัญหา เพื่อนำความสันติสุขร่มเย็นกลับมาสู่พื้นที่ เช่นในอดีตที่ผ่านมา ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของชาติคงยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ความสำเร็จมิได้อยู่ที่การนับศพหรือควบคุมตัวกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมายนานับปการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกนายต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทุ่มเท เสียสละ และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่น อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

พระราชดำรัส



“...จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้...”


พระราชดำรัส
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙

วิชกานต์ กุลศิริปัญโญ


วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ชลธิดา กุลศิริปัญโญ


ลูกสาว นาวาเอกกิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ

วิวสวย




วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแ ต่เหตุการณ์ปล้นปืนกองพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ มีความรุนแรง มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการก่อเหตุร้ายขึ้นมาตามลำดับ
สภาพปัญหาโดยรวมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษา, ความยุติธรรม, ความยากจน, ยาเสพติด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งได้ยึดโยงกับปัญหาสังคมจิตวิทยาที่เป็นปัญหาพื้นฐานมาค่อนข้างยาวนาน ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและหวาดระแวง โดยเฉพาะการถูกชี้นำให้เกิดขบวนการต่อสู้ มุ่งหวัง แบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง โดยอาศัยอัตลักษณ์ความเป็นเชื้อชาติมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐปัตตานีในอดีต จนกระทั่งมีขบวนการต่อสู้ที่สำคัญใช้ชื่อว่า ขบวนการ BRN, PULO และมูจาฮีดีน มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๓
ต่อมา ผลจากการแตกแยกภายในขบวนการผนวกกับการแก้ปัญหาที่ได้ผลของภาครัฐทำให้กลุ่มขบวนการเหล่านั้นอ่อนแอลง จะมีเพียงขบวนการ BRN Co-ordinate ซึ่งแยกออกมาจากขบวนการ BRN เท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหว จากการมุ่งเน้นซ่องสุมกองกำลังติดอาวุธเป็นบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง ในสถานการศึกษาตั้งแต่ระดับ ตาดีกา ปอเนาะ, โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการใช้มัสยิดอีกแหล่งหนึ่งด้วย
กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN Co-ordinate ได้ดำรงความมุ่งหมายการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเองโดยใช้ยุทธศาสตร์ตามแผนงาน “การปฏิวัติ ๗ ขั้นตอน” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ และใช้งาน “ การจัดตั้ง ” เป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จของการปฏิวัติแยก “ รัฐปัตตานี ” ทั้งนี้ จะใช้รูปแบบของการแอบแฝง ปะปนอยู่กับประชาชนและใช้เทคนิคการก่อการร้าย ,การบ่อนทำลาย , การสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและคนไทยที่นับถือศาสนามุสลิม, การแพร่มลทินต่อเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งสร้างความหวาดกลัวเพื่อควบคุมประชาชนและยั่วยุให้รัฐใช้ความรุนแรงตอบโต้
ขบวนการ BRN COORDINATE เป็นองค์กรลับ ใช้การปลุกระดม ขยายข่ายงาน สร้างสมาชิกและแนวร่วม ด้วยเงื่อนไขเชื้อชาติ, ศาสนาและมาตุภูมิ มีโครงสร้าง ประกอบด้วย
โครงสร้างสภาองค์กรนำ และโครงสร้างในองค์กรมวลชน เป็นโครงสร้างทางการเมือง การปกครองที่ใช้ในการควบคุมมวลชนจัดตั้ง จะแบ่งเขตการปกครองทับซ้อนอำนาจรัฐไทย ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านหรือ อาเยาะห์ ไปจนถึงระดับเขตหรือกัส
องค์กรจัดตั้งที่สำคัญที่สุดคือหมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านอันเอื้อ อำนวยให้กองกำลังติดอาวุธดำรงอยู่ได้เพื่อก่อเหตุร้ายรายวัน ที่พิสูจน์ทราบแล้วมีหมู่บ้านที่จัดตั้งไว้แล้วอย่างน้อย ๒๑๖ หมู่บ้าน โครงสร้างกองกำลังติดอาวุธ : จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ กองกำลังประจำถิ่นที่อยู่ประจำเขตการปกครองในแต่ละระดับ กับกองกำลังปฏิบัติการพิเศษที่สามารถเคลื่อนไหวทั้งประจำเขตการปกครองและนอกพื้นที่
การจัดตั้งกำลังติดอาวุธนั้น จะเริ่มบ่มเพาะจากกลุ่มเด็กเล็กภายในตาดีกาและเยาวชนภายในปอเนาะ ผ่านทางอุสตาส โดยคัดเลือกคนที่มีร่างกายแข็งแรง เรียนเก่ง ปลูกฝังความคิด ความเชื่อแล้วทำการซูมเปาะ และฝึกทางยุทธวิธี ของหน่วยทหารขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่าการฝึก “RKK”
กลุ่ม“RKK หรือ คอมมานโด” จะใช้หมู่บ้านจัดตั้งเป็นฐานที่มั่น ออกปฏิบัติการในพื้นที่ ไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่มีเงินเดือน ไม่ติดอาวุธ โดยมีกลุ่มทหารบ้านหรือตุรงแงคอยให้การสนับสนุนในการติดตามความเคลื่อนไหวของ จนท.รัฐ,กำหนดเป้าหมาย จัดหาอาวุธและที่เก็บซ่อนและให้ความช่วยเหลือในการหลบหนี
สำหรับแนวนโยบายแห่งรัฐในการแก้ปัญหานั้นจะใช้มาตรการต่างๆ ในการนำสันติสุขกลับคืนสู่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเร็ว จึงได้กำหนดเครื่องมือในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งด้านนโยบาย และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มาตามลำดับ ปัจจุบันมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบ โดยได้กำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงสำหรับภัยคุกคามกรณีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นความสำคัญเร่งด่วนแรก และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ขึ้นมา โดยมอบให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และสมดุล ตลอดทั้งบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ให้ผสมผสานกัน อย่างสอดคล้อง และเป็นระบบ ซึ่งมีหน่วยรองหลักประกอบด้วย กองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า รับผิดชอบต่อการเร่งรัด สืบสวน จับกุม นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไปอีกด้วย
การปฏิบัติงานทั้งด้านการทหารและการเมืองที่ดำเนินการมาทั้งหมด ได้ตระหนักอยู่เสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้ จึงจะต้องทำให้ประชาชนเหล่านี้มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้จงได้ ทั้งนี้จะไม่สร้างเงื่อนไขใดใดที่จะผลักดันประชาชนเหล่านี้ให้ไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด
แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ ๕ ปี ขึ้น โดยพิจารณาจากสภาพข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายเสริมสร้างสันติสุขและแนวทางในการปฏิบัติที่รัฐบาลกำหนด โดยมีกรอบการดำเนินงาน ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา



………………………………

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ข้อคิด คำคม จากขงเบ้ง


1. ถ้าคุณคิดจะเป็นใหญ่ คุณก็จะได้เป็นใหญ่ ถ้าคุณคิดอยากเป็นอะไรคุณก็จะได้เป็นสิ่งนั้น

2. เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย เพราะเชี่ยวชาญ มิใช่เพราะโอกาสเพราะสามารถ มิใช่เพราะโชคช่วยดังนี้แล้ว 'ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน'

3. นกทำรังให้ดูไม้ ข้าเลือกนายให้ดูน้ำใจ

4. ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด

5. ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด

6. ผู้ที่มีเกียรติ คือ ผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น

7. ถ้าสติไม่มา ปัญญาก็ไม่มี

8. ไม้คดใช้ทำขอเหล็กงอใช้ทำเคียว แต่ คนคดเคี้ยวใช้ทำอะไรไม่ได้เลย

9. เล่นหมากรุก อย่าเอาแต่บุกอย่างเดียว เดินหมากรุกยังต้องคิดเดินหมากชีวิต จะไม่คิดได้อย่างไร

10. เมื่อใครสักคนหนึ่ง ทำผิด ท่านอย่าเพิ่งตำหนิหรือต่อว่าเขาเพราะถ้าท่านเป็นเขาและตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับเขาท่านอาจจะตัดสินใจทำเช่นเดียวกับเขาก็ได้

11. การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยมือผู้อื่น

12. ผู้ปกครองระดับธรรมดา ใช้ความสารมารถของตนอย่างเต็มที่

13. ผู้ปกครองระดับกลาง ใช้กำลังของคนอื่นอย่างเต็มที่

14. ผู้ปกครองระดับสูง ใช้ปัญญาของคนอื่นอย่างเต็มที่

15. อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น

16. เมื่อนักการฑูตพูดว่า 'ใช่ หรือ อาจจะ' เขามีความหมายว่า 'อาจจะ'

17. เมื่อนักการฑูตพูดว่า 'อาจจะ' เขามีความหมายว่า 'ไม่'

18. เมื่อนักการฑูตพูดว่า 'ไม่' เขาไม่ใช่นักการฑูต (เพราะนักการฑูตที่ดีจะไม่ปฏิเสธใคร)

19. เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า 'ไม่' หล่อนมีความหมายว่า 'อาจจะ'

20. เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า 'อาจจะ' หล่อนมีความหมายว่า 'ใช่ หรือ ได้'

21. เมื่อสุภาพสตรีพูดว่า 'ใช่ หรือ ได้' หล่อนไม่ใช่สุภาพสตรี.

22. สุภาพสตรีจะไม่ตอบรับใครง่าย ๆ

23. คิดทำการใหญ่ อย่าสนใจเรื่องเล็กน้อย

24. ตาสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลได้ แต่ไม่สามารถ มองเห็นคิ้วของตน

25. คนส่วนใหญ่ใส่ใจกับผลได้ระยะสั้นเท่านั้น แต่คนฉลาดอย่างแท้จริงจะมองไปยังอนาคต

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

นักกล้าม


ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน




เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล

.

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก


สุดจะหักห้ามจิตจะคิดไฉน


ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป


แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

***อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก

แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย

แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย

เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จะเกิดภาคไหนๆ ก็ไทยด้วยกัน


การเจรจาต่อรอง

เจรจาต่อรอง
ศิลปะในการเจรจาต่อรอง

1. เจรจากับผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น จงหลีกเลี่ยงในการเจรจา ถึงเงื่อนไขต่างๆ กับตัวแทนของคู่เจรจา เพราะหน้าที่ของเขาก็คือ การแสวงหาช่องโหว่จากคุณให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ก่อนที่ผู้มีอำนาจแท้จริงจะเจรจา ตกลงกับคุณอีกครั้งหนึ่ง
2.สร้างความพอใจให้ทุกๆฝ่าย เพราะนี่คือกุญแจของความสำเร็จในการเจรจาทุกกรณี
3.เตรียมพร้อมที่จะรับเงื่อนไของคู่เจรจา โดยปกติการเจรจา จะต้องมีการ่อรองอยู่เสมอ จงเตรียมการให้พร้อมและเริ่มต้นการเจรจาด้วยข้อเสนอ ที่สูงกว่าเป้าหมาย ที่คุณวางไว้เล็กน้อย
4.สุขุม จงรักษาอารมณ์ของคุณให้สงบ เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา แล้วคุณจะรับผลประโยชน์มหาศาล อย่าอารมณ์เสีย (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็อย่าได้แสดงอาการออกมา)
5.ขาย การเจรจาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับการขายตัวของคุณพร้อมวัตถุประสงค์ของคุณให้แก่คู่เจรจา พึงระลึกไว้เสมอว่าคุณจาสามารถเอาชนะคู่เจรจาได้ก็ต่อเมื่อ คุณสามารถขายตัวของคุณเองได้สำเร็จเท่านั้น
6.อย่าลดเงื่อนไขของตนเอง อย่าตกปากรับข้อเสนอ หรือ เงื่อนไขที่คุณอาจจะเสียใจภายหลังได้ ยอมสูญเสียมันดีกว่า ยอมรับในสิ่งที่คุณไม่สามารถจะรับได้
7.เอาชนะด้วยจุดแข็งของคุณ นักเจรจาที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่สามารถ ทราบถึงจุดแข็งของตนเอง และนำมาให้ได้ อย่างมีประสิทธิผล
8.เจรจาด้วยตัวของคุณเอง มีหลายกรณีที่คู่เจรจาต้องการข้อมูลเอกสารหรือรายละเอียดเพิ่มเติม คุณควรเตรียมพร้อมที่จะเสนอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ด้วยตัวของคุณเอง ซึ่งคุณสามารถสังเกตปฏิกิริยาต่างๆ ของคู่เจรจาของคุณได้
9.ใจเย็น หากคุณยังลังเลหรือยังไม่แน่ใจในข้อเสนอ หรือ เงื่อนไขบางอย่าง จงอย่ารีบด่วนตัดสินใจอย่างฉับพลันเพราะโดยทั่วๆไป แล้ว ถ้าเป็นการเจรจาในเรื่องที่สำคัญรอช้าอีกสักวันได้
10.อย่าพูดเกินความจริง การโอ้อวดเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จระยะสั้นเป็นข้อห้ามเด็ดขาดของการเจรจา เพราะความสำเร็จระยะสั้นจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในภายหลัง
11.อย่าให้คู่เจรจาอ่านสีหน้าของคุณออก อย่าแสดงอาการดีใจจนเกินเหตุเมื่อสมหวัง และไม่ควรแสร้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ด้วย จงแสดงท่าทางยินดีเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่คุณคาดหมายอยู่แล้ว
12.อย่ามองข้ามผู้ร่วมงานของคู่เจรจา เขาเหล่านั้นอาจจะมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอของคุณได้
13.เป็นกันเอง ก่อนวันเจรจาหรือก่อนการเริ่มต้นเจรจา จงเรียนรู้ชื่อของผู้เข้าร่วมเจรจาทุกคน และพยายามกล่าวถึงเสมอ
14.อย่ากีดกันผู้อื่นจนเกินไป ในบางกรณีคู่เจรจาของคุณ อาจต้องการเพื่อนร่วมคณะด้วย
15.รักษาความลับ คู่เจรจาของคุณอาจจะไม่ต้องการให้พนักงานของเขาหรือคนอื่นทราบการนัดหมายหรือสาระในการเจรจากับคุณ
16.เชื่อมั่นในตนเอง จงมีความเชื่อมั่นในตนเอง ในการเจรจาทุกครั้ง
17.อย่ารีบด่วนกระหยิ่มใจ การเจรจา ๓ ชั่วโมง เต็มของคุณอาจประสบความล้มเหลวภายในวินาทีเดียวที่คุณเริ่มขาดการระมัดระวังได้ เพราะคู่เจรจาของคุณอาจคอยจ้องโอกาสนี้ อยู่แล้ว
18.มีเหตุผล คุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เสมอ เว้นเสียแต่ว่าคุณตั้งเป้าหมายของคุณเสียสูงจนสุดเอื้อม
19.จบการเจรจาด้วยไมตรี ไม่ว่าผลของการเจรจาจะออกมาในรูปใดทุกๆ คนด่าวมีส่วนร่วมเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน ด้วยกันทั้งนั้น จงขอบคุณผู้เจรจาของคุณจากใจจริง