วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สาระบางอย่างเกี่ยวกับมุสลิม

มุสลิม คือ คำที่ใช้เรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีสถานภาพเป็นทั้งผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม โดยมุสลิมต้องปฏิบัติตนอยู่ในหลักคำสอนที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑ หลักศรัทธา มุสลิมต้องมีความศรัทธา ๖ ประการ คือ ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว คือ อัลลอฮ์ ในบรรดามลาอีกะฮ์ ในบรรดาศาสนทูต ในคัมภีร์ที่สำคัญ ในวันแห่งการพิพากษาหรือวันสิ้นโลก และในกฎกำหนดสภาวการณ์จากพระเจ้า
๒ หลักปฏิบัติ ๕ ประการ คือ การปฏิบัติตามคำปฏิญาณว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าองค์เดียว และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตจากพระองค์ การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอดปี ละ ๑ เดือน ในเดือนรอมฎอน การบริจาคซะกาตแก่คน ๘ ประเภท และการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ สำหรับผู้ที่มีความพร้อม
๓ หลักความยำเกรงโดยมีความตระหนักว่าจริยธรรม คุณธรรม และการปฏิบัติทุกอย่างกระทำต่อหน้าพระเจ้าและพระเจ้าทรงเห็น ทรงรู้ในพฤติกรรมนั้นอยู่ทุกขณะ

ละหมาด เป็นสำเนียงไทยๆ ที่เพี้ยนมาจากภาษาอุรดูว่า นมาซ ภาษาอาหรับเรียกว่า อัศเศาะลาศ์ ส่วนภาษามลายูใช้คำว่า ซัมมะฮ์ยัง หรือ สะมะยัง
ละหมาดวันศุกร์ คือ การละหมาดร่วมกันที่มัสยิดหรือที่ใดที่หนึ่ง ในช่วงกลางวันของวันศุกร์ โดยมีการกล่าวคุฎบะฮ์ หรือ ธรรมเทศนาก่อน ละหมาดนี้บังคับเฉพาะผู้ชาย
ละหมาดวันอีด ในอิสลามมีวันสำคัญซึ่งเป็นวันแห่งความรื่นเริงอยู่ ๒ วัน คือ วันอีดิลฟิตร คือ วันเฉลิมฉลองหลังจากเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และวันอีดิลอัฎฮา
คือ วันเฉลิมฉลองเนื่องในพิธีฮัจญ์ วันทั้งสองเรียกสั้นๆ ว่า “วันอีด” มุสลิมภาคกลางเรียกว่า
“วันออกบวช” และ “วันออกฮัจญี” ภาษามลายูใช้คำว่า “ฮารีรายอปอซอ” และ “ฮารีรายอฮัจญ์” ในวันดังกล่าวมุสลิมจะไปละหมาดอีดรวมกันที่มัสยิด และมีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงใกล้ชิด และขออภัยกัน ให้พรแก่กัน
มัสยิด คือ ศาสนสถานที่มุสลิมใช้เป็นที่ละหมาด โดยถือว่าเป็นบ้านของพระเจ้า มุสลิมเมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใดจะสร้างมัสยิดไว้เป็นศูนย์กลางของชุมชน มัสยิดนอกจากจะมีภาระหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนาแล้ว ยังมีภาระหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองในประเทศไทย มัสยิดที่จดทะเบียนแล้ว มีจำนวน ๓,๕๐๗ มัสยิด ในจำนวนนี้เป็นมัสยิดที่อยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง ๑,๖๘๗ มัสยิด

ตาดีกา คือ การจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น ให้แก่เด็กมุสลิมระดับประถมศึกษาในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือในตอนเย็นของวันธรรมดา เพื่อเตรียมให้เด็กเติบโตเป็นมุสลิมที่ดี มีฐานความรู้ทางศาสนา พร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อใน ร.ร.ปอเนาะ มักใช้สถานที่ของมัสยิดซึ่งจัดการบริหารโดยชุมชน ในปัจจุบันเรียกว่า “ศูนย์อบรมจริยธรรมประจำมัสยิด” (ตาดีกา) ซึ่งจัดอยู่ในการศึกษานอกระบบ

ปอเนาะ คือ บ้านหลังเล็กๆ ลักษณะเป็นกระท่อม ปอเนาะจึงเป็นคำที่เรียกสถานศึกษาของชาวมุสลิมในคาบสมุทรมลายู ซึ่งผู้เรียนจะประจำอยู่ที่กระท่อมที่รายล้อมสถานศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปอเนาะเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ปอเนาะส่วนหนึ่งได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม สอนทั้งศาสนาและสายสามัญ ส่วนปอเนาะดั้งเดิมได้จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ เรียกว่าสถาบันศึกษาปอเนาะ สอนศาสนาอิสลามจำนวน ๑๖ รายวิชา จัดเป็นการศึกษานอกระบบ

โต๊ะครู คือ คำเรียกครูสอนศาสนาในสถาบันศึกษาปอเนาะ มาจากคำว่า “ตูวันกูรู” ซึ่งแปลว่า “ท่านครู” ในภาษามาลายูเรียกว่า “โต๊ะกูรู”

บาบอ คือ คำเรียกเจ้าของสถาบันศึกษาปอเนาะ หรือเป็นคำเรียกพ่อ เรียกโต๊ะครู เรียกผู้อาวุโส ที่ประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว