วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

จังหวัดชายแดนภาคใต้


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยระดมทรัพยากรทั้งบุคลากร และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณต่างๆเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถควบคุมสถานการณ์ และยุติปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การสร้างสันติสุขกลับมาสู่ผืนแผ่นดินแห่งนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับกันว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อนโดยเฉพาะในระบบสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันหลายมิติ ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องมีความละเอียดประณีต การใช้กำลังเข้าแก้ไขปัญหาคงไม่สามารถนำความสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมั่นคงถาวร
จากผลการปฏิบัติในรอบปีที่ผ่านมาแม้จะถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่หลายฝ่ายพึงพอใจ ทำให้เกิดความคาดหวังจากประชาชนทั่วประเทศว่าจะสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปสู่ทิศทางของการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้ แต่ยังคงมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางประการที่เราต้องเพ่งเล็ง และให้ความสำคัญ อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ได้แก่
ประการที่ ๑ การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ต้องผนึกกำลังโดยไม่แบ่งแยกเป็นพวก เป็นฝ่าย ร่วมกันแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยถือบริบทของความสมานฉันท์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม และประเทศชาติ
ประการที่ ๒ การปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ต้องตระหนักให้จงดีว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี มีความเข้าอกเข้าใจประชาชน เพื่อมิให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งกันและกัน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมองประชาชนด้วยสายตาหวาดระแวง ขาดสายใยแห่งความผูกพัน และไมตรีจิต ก็คงหวังไม่ได้ที่จะให้ประชาชนคืนความจริงใจกลับมาสู่ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามความสงบสุขจะยิ่งหนีห่างออกไปอีก เป็นเท่าทวีคูณ สิ่งเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชา ต้องตระหนักรู้ และใส่ใจกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา โดยปรับทัศนคติให้เปิดกว้าง ลดความหวาดระแวง มอบความไว้ใจซึ่งกันและกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ประการที่ ๓ การดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบปีที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการตาม แผนงาน/โครงการ ตามกลยุทธ์ในกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคง และด้านการพัฒนา แม้ว่าแผนงานโครงการดังกล่าว จะผ่านการกลั่นกรองตามกระบวนการ จนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้ก็ตามแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักก็คือการประเมินผลการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อเสริมจุดด้อย ชูจุดเด่น ให้บังเกิดแรงขับเคลื่อนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้พัฒนาดียิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละห้วงเวลา มิฉะนั้นจะเป็นเพียงการย้ำเท้าอยู่กับที่
ประการที่ ๔ ประชาชนคือศูนย์กลางแห่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เป็นกลไกหลัก ตัวจักรสำคัญยิ่ง ดังนั้นการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม หรือมีส่วนรวมในทุกกระบวนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มวางแผน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จะทำให้เห็นถึงความจริงใจของภาครัฐ และ เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาชน อันจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างบริบูรณ์
ประการที่ ๕ ส่วนราชการ เอกชน รวมทั้งประชาชนคนไทย ที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตระหนักว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศลำดับแรก จึงต้องมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่ของตนเองให้มากที่สุด เช่น คัดเลือกเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประณีต รอบคอบ แก้ไขช่องว่างของกฎระเบียบข้อบังคับ ให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ การจัดกิจกรรมสนับสนุน ช่วยเหลือ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ล้วนส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังร่วมมือแก้ไขปัญหา เพื่อนำความสันติสุขร่มเย็นกลับมาสู่พื้นที่ เช่นในอดีตที่ผ่านมา ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของชาติคงยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ความสำเร็จมิได้อยู่ที่การนับศพหรือควบคุมตัวกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมายนานับปการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกนายต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทุ่มเท เสียสละ และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยความมุ่งมั่น อย่างต่อเนื่อง ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: